ครม.ส่งต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ชง PPP ของบใช้หนี้ 7.8 หมื่นล้าน

05 ก.ค. 2566 | 14:37 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 14:53 น.

ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มหาดไทย ชงข้อเสนอ ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หลังมีภาระหนี้ 7.8 หมื่นล้าน พร้อมดันรูปแบบการดำเนินโครงการเป็น PPP

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ 

ทั้งนี้ตามมติครม.เดิมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กลับไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีข้อสงสัย เมื่อทางกทม.ได้สรุปข้อมูลต่าง ๆ เสร็จเข้าใจได้เสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ใหม่พิจารณา ก่อนแจ้งกลับมายังกระทรวงมหาดไทย และนำมาเสนอครม. วันนี้

ที่ผ่านมาครม. ได้หารือเรื่องนี้มากกว่า 7 ครั้ง และทางกระทรวงคมนาคมก็มีความเห็นกลับไปว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งในการประชุมครม.ครั้งก่อนนอกจากจะให้กระทรวงมหาดไทย โดยกทม. ชี้แจงข้อสงสัยทั้งหมดแล้ว ก็ขอให้แจ้งสถานะโครงการล่าสุดมายังครม.รับทราบ โดยเฉพาะตัวเลขต่าง ๆ มาให้ชัดเจนด้วย

 

นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นางณัฐฏ์จารี กล่าวว่า กทม.ได้แจ้งกลับมาว่า ปัจจุบันโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมดชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กทม.มีภาระหนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินนี้แบ่งเป็นรายการต่าง ๆ ที่จะต้องของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล

“กทม.ได้มารายงานข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการให้ครม.รับทราบว่า เหตุการณ์เรื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังเดินอยู่อย่างนี้ เพื่อให้ครม.รับทราบเฉย ๆ แต่ไม่ได้อนุมัติอะไร และคงต้องเสนอให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อไป”

นางณัฐฏ์จารี กล่าวว่า ข้อมูลภาระหนี้ของโครงการล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทย แจ้งครม.ครั้งนี้ อาจยังไม่รวมเรื่องของการเดินรถ เพราะอาจจะมีวงเงินสูงกว่านี้ แต่ในเอกสารที่เสนอมาในครม.ยังไม่ได้มีรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว มีเพียงวงเงินที่เสนอมาเป็นภาระหนี้ 78,830 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในที่ประชุมครม.วันนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีความเห็นอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งทางกทม. ได้รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้ชี้แจงข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากเอกสาร เช่น การของบจากสภากทม. รวมทั้งยังรายงานเรื่องของสัมปทานเบื้องต้นว่า กทม.อยากให้ใช้การดำเนินการตามรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แทน เพราะมีความเหมาะสมกว่า

 

ภาพประกอบข่าว ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รายงานครม.ว่า มีแนวทางดำเนินโครงการฯ ดังนี้ 

1. กทม. เห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนและทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) จึงเห็นควรสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม. 

เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ) ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขต กทม. และยังมีผู้โดยสารไม่มาก

2. กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

3. จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เจรจากับบริษัทเอกชนไว้ว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กทม. จึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ 

รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับ กทม. ในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ ครม. จะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการและประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะ

 

ภาพประกอบข่าว ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

อย่างไรก็ตาม กทม.เห็นควรให้มีการนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด 

โดยปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566) ดังนี้ 

  • ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์  55,034.70 ล้านบาท
  • ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม. ได้จ่ายให้ กค. ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท
  • ค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1. ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ ให้กทม.หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นของระบบตั๋วร่วมการกำหนดอัตราค่าโดยสารการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและรายละเอียดอื่นๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความพร้อมของกทม. ในการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต ตามมติ ครม. (26 พฤศจิกายน 2561) และความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย 

โดยให้ กทม. ประสานงานกับสำนักงบประมาณ ในรายละเอียด รวมทั้งสถานะ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและภาระหนี้ และการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562

2. สำนักงบประมาณ เห็นว่า กทม. ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประมาณการวงเงินภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดจนจบสัญญาสัมปทาน (ปี 2572) เปรียบเทียบกับประมาณการ รายได้ สถานะทางการเงินของ กทม. และจัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม. ในโอกาสแรก