กทม.โยนครม.ใหม่ ปลดล็อก“ม.44” โอนหนี้”สายสีเขียว”คืนรัฐ -สภากทม.ด่านหิน

25 มิ.ย. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2566 | 17:59 น.

ปมร้อนสางหนี้กองโต รถไฟฟ้าสายสีเขียวแสนล้าน งานโยธา-หนี้บีทีเอสซี ขยายสัมปทานไม่หมู โยนรัฐบาลใหม่ ออกมติครม.หักล้างม.44 คสช. โอนหนี้คืนรัฐ ด่านแรกต้องฝ่าด่านหิน สภากทม. ก.ค.นี้ให้ได้ก่อน  

 

การแกะปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที)ฐานะบริษัทลูกกทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอสซี หลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) นัดเจรจา ในโอกาสบริหารกทม.ครบหนึ่งปีเมื่อไม่นานมานี้

 

 

 หลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกต การสะสางหนี้ก้อนโต กว่าแสนล้านบาท ของกทม.ยังเป็นโจทย์หินแม้ที่ผ่านมาทางออกที่นายชัชชาติ เลือก คือโอนหนี้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กว่า50,000 ล้านบาทกลับคืนเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

เนื่องจากแนวเส้นทางและผู้ใช้บริการ ไม่ได้อยู่ในเขตกทม.เพียงอย่างเดียว แต่ใช่ว่ารัฐบาลใหม่จะยินยอม เพราะ เป็นปมปัญหามาจากรัฐบาลเก่า ตามมาตรา 44 (ม.44)ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวพุทธศักราช 2557คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ผูกเงื่อนไว้

1.โอนหนี้งานโยธาส่วนต่อขยายสายสีเขียวสองช่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ให้กทม.บริหารจัดการแทน 

2.ให้เอกชนรับจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย ในคราวเดียวกันแบบไร้รอยต่อโดยไม่ต้องหาเอกชนรายใหม่และ

3.ขยายสัมปทานให้กับเอกชนหรือบีทีเอสซีแลกกับการแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดไว้แทนกทม. แต่ในทางกลับกันมีเสียงคัดค้านรอบด้านทำให้ทุกขั้นตอนตามม.44ต้องสะดุดลง

ทั้งนี้เพื่อให้สายสีเขียวเดินหน้าต่อได้ กทม.ต้องการ ใช้อำนาจ ครม. ใหม่มีมติ ยกเลิกคำสั่งมาตรา44 เพื่อโอนสายสีเขียวกลับคืนรัฐ ที่ผ่านมายอมรับว่ากทม.เคยเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอยกเลิกมติเดิม แต่เรื่องได้เงียบหายไป

ที่สำคัญ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหาผลที่ตามมา อาจเกิดความไม่พอใจสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียภาษี และไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งการขยายสัมปทาน ที่ต้องเป็นคำสั่งจากครม.ชุดใหม่ส่วนหนี้อีกก้อนที่ติดค้างเอกชนคือ บีทีเอสซี รวม 50,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเดินรถและซ่อมบำรุง จำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล 30,000ล้านบาท

โดยหนี้ที่ติดค้างจากการจ้างเดินรถ ที่บีทีเอสซีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องและศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กทม.ต้องใช้หนี้ให้กับเอกชน วงเงิน 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันกทม.และเคทียื่นอุทธรณ์ และหนี้จ้างบีทีเอสซีติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะครบกำหนดชำระพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้โดยก้อนแรกที่จะแก้ปัญหาให้กับ เอกชน คือการนำเข้าสภากทม.พิจารณาเพื่อชำระหนี้ให้กับ เอกชน 20,000 ล้านบาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ล้านบาท เสนอรัฐบาลใหม่แก้ปัญหา

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง หารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติ สัญญาณของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ พร้อมระบุว่า เรื่องนี้กทม.ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการในการดำเนินการมีอยู่ 2 ขั้นตอนคือ

1.เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปจ้าง บีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม.มอบหมายให้เคทีเป็นผู้ดำเนินการ ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือต้องให้สภา กทม.อนุมัติก่อนและเรื่องที่ 2 คือหากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นสะสมจ่ายขาดในสภากทม. ก็ต้องพิจารณาเหมือนกันทั้ง 2 เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องเอาเข้าสภากทม.

ขณะที่ผ่านม กทม.ไม่นิ่งนอนใจ ทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยใน หลายประเด็น ประเด็นแรก อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่ มาตรา 44 มอบหมายให้กกทม.เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย

  ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่ตามมาตรา 44 นั้น ตัวมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่ส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ครม.พิจารณามติมูลหนี้ หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งขณะนี้เรื่องยังค้างอยู่ในครม.ยังไม่มีข้อยุติต้องสอบถามและเร่งรัดทางครม.ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนนายคีรี มองว่าการเจรจาในครั้งนั้นเกิดความเข้าใจตรงกัน โดย หนี้กว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ก้อนคือค่าเดินรถและซ่อมบำรุงจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ผู้ว่าฯกทม. รับปากจะนำเสนอสภากทม.เดือนกรกฎาคมนี้ และมั่นใจว่าจะได้รับการชะระหนี้คืน เนื่องจากบริษัทมีการเดินรถจริง สัญญาที่ทำถูกต้อง หากไม่มีสัญญาจะไม่เดินรถ

 ขณะหนี้อีกกว่า 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล ต้องรอเสนอครม.อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ถูกนำวาระเข้า-ออก เหตุผลเพราะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วย อาจเป็นเพราะมีประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มหวังว่ารัฐบาลรักษาการ จะตัดสินใจเรื่องนี้ หรือหากไม่ได้ มั่นใจว่า รัฐบาลชุดใหม่ จะจัดการปัญหาได้ เพราะไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

  แหล่งข่าวจากเคที ระบุว่า ในทางกลับกัน มีความเป็นไปได้หาก รอให้ การสัมปทาน ของเอกชนสิ้นสุดลง ในปี2572 กิจการจะตกเป็นของกทม.และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารในราคาถูกได้ และหากบีทีเอสซีหรือเอกชนรายอื่นต้องการรับสัมปทาน สามารถ เปิดกว้างได้ตามกฎหมายร่วมทุนปี2562 ส่วนเบื้องลึกหนี้สินจากการจ้างเดินรถมองว่าน่าจะจบที่ศาลฯขณะมาตรา 44 ควรจบที่ ครม.ใหม่ มีมติหักล้างหรือสลายออกไป 

หนี้สายสีเขียว