“การท่องเที่ยว” หัวจักรเศรษฐกิจปี 2566 

12 ธ.ค. 2565 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 21:58 น.

บทบรรณาธิการ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ย.2565 อยู่ที่ 47.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน นับแต่เดือนเม.ย.2564  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 42.0  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 45.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.4
 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีม.หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ชี้ว่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าประชาชนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น ใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด และเชื่อว่าเดือนธ.ค.และม.ค.ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นไปอีก จากปัจจัยสำคัญคือการท่องเที่ยวที่กลับมา ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ ราคาพืชผลทางเกษตรดีขึ้น และมาตรการตรึงค่าครองชีพของรัฐบาล รวมถึงราคาน้ำมันไม่สูงมากนัก ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น คนพร้อมที่จะท่องเที่ยว โควิดเริ่มคลายทำให้เศรษฐกิจเป็นบวก 

 

การกลับมาเปิดเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้เศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ 4.5% และเฉลี่ยทั้งปีจะเติบโตได้ที่ 3.2% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปี 2565 ได้ที่ 10 ล้านคนตามเป้า และคาดว่าจะยังเติบโตต่อไปในปี 2566 ซึ่งททท.ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีฐานที่ 18 ล้านคน และถ้ารัฐบาลจีนเปิดให้ชาวจีนเดินทางระหว่างประเทศได้ จะไปสู่เป้าหมายกรณีดีที่สุดที่ 25 ล้านคน 
 

ขณะที่การส่งออก ที่เคยเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากที่มีสัดส่วนในจีดีพี ประเทศถึงเกือบ 70% เริ่มเผชิญข้อจำกัด จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแทบทุกประเทศเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ได้ส่งผลให้การค้าโลกเริ่มชะลอ หลายประเทศถูกจับตาว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ขณะที่การส่งออกไทยเดือนต.ค.2565 ติดลบ 4.4% และคาดว่าปี 2566 การส่งออกไทยอาจขยายตัวได้เพียง 1-5% จากปี 2565 ที่คาดว่ายังเติบโตได้ที่ 9.1%  

 

ในภาวะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นไข้ ทั้งจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ต้นทุนพลังงานทรงตัวสูง ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ตลอดจนการปรับสมดุลระเบียบโลกใหม่ ที่มีจุดเสี่ยงหลายจุดทั่วโลก แม้ทั่วโลกชะลอตัว การท่องเที่ยวเป็นแรงหนุน ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะเป็นพระเอกเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงปี 2566  
 

ภายใต้ปัจจัยลบและข้อจำกัด รัฐบาลต้องช่วยดูแลต้นทุนปัจจัยการผลิตของธุรกิจ เสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า ส่งเสริมกระตุ้นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศ และมาตรการรับมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง