สรุปผลประชุมเอเปค 2022 : ประกาศปฏิญญาผู้นำฯ ดันเป้าหมายกรุงเทพฯ สู่รูปธรรม

19 พ.ย. 2565 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2565 | 21:06 น.

นายกฯ แถลงผลสรุป "ความสำเร็จ" ในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ วันนี้ (19 พ.ย.) ระบุ ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจให้การรับรอง "ปฏิญญาผู้นำฯ" และ "เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG" พร้อมขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม


ภายหลังเป็นประธาน การประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (Retreat ช่วงที่ 2) ภายใต้หัวข้อ "Sustainable Trade and Investment การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุม Plenary Hall 2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ช่วงเช้าวันนี้ (19 พ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ได้ แถลงสรุปผลการประชุม ระบุว่า

 

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จบลงแล้วอย่างสวยงามและประสบความสำเร็จ หลังจากที่คณะทำงานทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานมาอย่างแข็งขันตลอดทั้งปี เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกร่วมกัน

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ประชุมแบบพบหน้า 

 

การประชุมนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชน ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และนายกฯ ยังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปคจาก APEC Voices of the Future 2022

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคเข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 จบลงแล้ววันนี้ (19 พ.ย.) ด้วยความสำเร็จและน่าภาคภูมิใจสำหรับไทยในฐานะเจ้าภาพ

ผลการประชุมครั้งนี้ นับเป็นความภูมิใจ และประกาศถึงความสำเร็จของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน และยืนยันผลลัพธ์ตาม 3 ข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

 

ทั้งนี้ ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจได้ให้การรับรอง "ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022" และ "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG" ซึ่งสะท้อนการทำงานอย่างใกล้ชิดของเอเปค และเป็นการวางรากฐานให้เอเปคมีทิศทางการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ


ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” อย่างสมบูรณ์ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเห็นพ้องกับการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม พร้อมรับมือความท้าทายในอนาคต ผ่านการร่วมกันรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ที่ขับเคลื่อนให้เอเปคสามารถเดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน

 

และขณะเดียวกันก็คงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่ 

  1. “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปคได้เดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ผลงานที่เป็นรูปธรรม คือ จัดทำแผนงานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ ๆ 
  2. “เชื่อมโยงกัน” เอเปคได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต 
  3. “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจBCG” วางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 
  • การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ 
  • การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 
  • การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน 
  • และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน 

 

พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org รวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิกเอเปคให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไปอีกด้วย


ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า (2023) ให้แก่สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบ “ชะลอม” ให้แก่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งชะลอมเป็นภาพแทนสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพื่อส่งต่อให้สหรัฐสานต่อภารกิจในปีหน้า โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนที่สะท้อนอยู่ในเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG