ผ่านแล้ว! ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค 2022 ได้รับฉันทามติ พร้อมเดินหน้า

18 พ.ย. 2565 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2565 | 02:31 น.

ร่างเอกสารถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ค.ศ. 2022 ได้รับ "ฉันทามติ" จากสมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจเอเปคแล้วในวันนี้ (18 พ.ย.)

ร่างเอกสารถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ค.ศ. 2022 (APEC Joint Ministerial Statement) ได้รับ ฉันทามติ จากสมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจแล้วในวันนี้ (18 พ.ย.) นับเป็นข่าวดี และเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ได้รับการสนับสนุนผ่านไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ 

 

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยวันนี้ (18 พ.ย.) ว่า ร่างเอกสารถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ค.ศ. 2022 (APEC Joint Ministerial Statement) ได้รับฉันทามติจากสมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจแล้ว โดยเนื้อหาหลักภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ระหว่างทุกเขตเศรษฐกิจที่ระบุในถ้อยแถลงดังกล่าว ย้ำ 3 เป้าหมายหลัก คือการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันในทุกมิติ และขับเคลื่อนเอเปคสู่การเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 

"นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปคในเรื่องต่างๆซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ต้นปีภายใต้การเป็นเจ้าภาพของไทย ที่เราสามารถเห็นพ้องเป็นฉันทามติกันได้ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทุกฝ่ายต่างทุ่มเทความพยายามและทำงานร่วมกันอย่างหนัก ดังที่กล่าวมาแล้วในช่วงเช้าว่า เราได้เห็นสปิริตของเอเปค ที่ทุกเขตเศรษฐกิจต่างมุ่งมั่นและพยายามผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ทุกฝ่ายมีความร่วมใจและเห็นพ้องที่จะพยายามทลายอุปสรรคที่เคยมีให้ลุล่วงไป" อธิบดีเชิดชายกล่าว และว่า

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อยที่จะทำให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเห็นพ้องเป็นฉันทามติกันได้ แต่เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว เอเปคซึ่งเปรียบเสมือนจักรกลเศรษฐกิจขนาดมหึมาก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่เป้าหมายที่ทุกฝ่ายมุ่งหวัง

 

ทั้งนี้ เนื้อหาร่างถ้อยแถลงดังกล่าวครอบคลุมถึง

  • แนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและเปิดกว้างเพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงมีพลวัตและคงความสำคัญท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ
  • การถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณสุขและแนวทางการรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่สะดวกและปลอดภัย
  • รวมทั้งนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเติบโตระยะยาวอย่างสมดุล สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจทุกขนาด ตลอดจนประชาชนทุกคน