จุดจบอัสซาดในซีเรีย กำลังเปลี่ยนดุลอำนาจตะวันออกกลาง

10 ธ.ค. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2567 | 16:07 น.

การล่มสลายของระบอบอัสซาดในซีเรีย ไม่เพียงเป็นจุดจบของผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนาน แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำลังเขย่าดุลอำนาจในตะวันออกกลาง เมื่อภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา

การล่มสลายของกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำโดยกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ นิกายซุนนี ที่เรียกตัวเองว่า ‘ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม’ (Hayat Tahrir al-Sham) หรือกลุ่ม HTS ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตะวันออกกลาง 

รัฐบาลของ บาชาร์ อัล-อัสซาด สามารถต้านทานการลุกฮือต่อเนื่อง สงครามกลางเมือง และการคว่ำบาตรระหว่างประเทศมานานกว่าทศวรรษ ตั้งแต่การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2011 แต่สุดท้ายกลับล่มสลายลง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันซึ่งฝ่ายต่อต้านสามารถรุกคืบ โดยไม่มีการต่อสู้หรือแรงต่อต้านที่สำคัญ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับมหาอำนาจในภูมิภาคที่ต้องเร่งประเมินผลกระทบและนัยสำคัญในวงกว้าง

และยังแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจในภูมิภาค และทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของซีเรีย รวมถึงบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับโลกในการจัดการสถานการณ์หลังยุคอัสซาด 

อนาคตของซีเรียจะเป็นอย่างไร

ซีเรียถูกแบ่งแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากภายนอกและมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

กองกำลังฝ่ายค้านซีเรีย นำโดยกลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม 

กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี ปัจจุบันควบคุมพื้นที่ตอนกลางของซีเรีย ตั้งแต่ชายแดนตอนเหนือที่ติดกับตุรกีไปจนถึงชายแดนตอนใต้ติดกับจอร์แดน แม้จะมีความเชื่อทางศาสนาร่วมกัน แต่กลุ่มซุนนีกลับมีประวัติความขัดแย้งภายใน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงในระยะยาว 

กองกำลังชาวเคิร์ด

กลุ่มชาวเคิร์ดควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งติดกับตุรกีทางตอนเหนือและอิรักทางตะวันออก ซึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งได้ตั้งฐานทัพในพื้นที่ดังกล่าว แต่การสนับสนุนนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดกับตุรกี ซึ่งมองว่าการเพิ่มอำนาจของชาวเคิร์ดเป็นภัยต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของตน 

กองกำลังอลาวี

กลุ่มอลาวีผู้สนับสนุนอัสซาด ยังคงตั้งมั่นในภูมิภาคชายฝั่งตะวันตกของซีเรีย ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอิหร่าน อิรัก และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน พื้นที่เหล่านี้อาจกลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับกลุ่มที่สนับสนุนอัสซาดหลังการเข้ายึดครองของฝ่ายต่อต้าน 

ความแตกแยกอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มเหล่านี้ รวมถึงการขาดผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน ชี้ให้เห็นว่าซีเรียอาจเผชิญกับความไม่มั่นคงและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อต่อไป 

ผลกระทบต่อผู้เล่นหลักในตะวันออกกลาง 

ตุรกี

ตุรกีคาดว่าจะขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารในซีเรีย ซึ่งจะเพิ่มความท้าทายให้กับกองกำลังชาวเคิร์ดที่ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ 

อิสราเอล

การล่มสลายของอัสซาดได้ทำลายกลุ่มต่อต้านซึ่งประกอบด้วยอิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มตัวแทนของเตหะราน เช่น ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮามาสในฉนวนกาซา และกบฏฮูตีในเยเมน

การล่มสลายของอัสซาดส่งผลให้เส้นทางการสนับสนุนทางทหารของอิหร่านต่อฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนถูกตัดขาด อิสราเอลจึงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ 

ตัวอย่างเช่น หลังจากที่อิสราเอลตกลงหยุดยิงกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลก็เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนจุดเน้นไปที่การต่อต้าน “ภัยคุกคามจากอิหร่าน”

อิหร่าน

อิหร่านเป็นประเทศที่สูญเสียมากที่สุด อัสซาดเป็นพันธมิตรที่สำคัญในเครือข่ายตัวแทนระดับภูมิภาคของอิหร่าน การล่มสลายของรัฐบาลตามมาหลังจากความเสียหายครั้งใหญ่ที่อิสราเอลสร้างให้กับพันธมิตรอื่นๆ ของอิหร่านไปแล้ว ได้แก่ ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ อิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคลดลงอย่างมาก ทำให้อิหร่านเสี่ยงต่อการขัดแย้งโดยตรงกับอิสราเอลมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ความแตกแยกทางชาติพันธุ์และศาสนาในซีเรียยังสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตุรกี อิรัก จอร์แดน และเลบานอน รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยและความรุนแรงข้ามพรมแดน 

แม้ประชาชนชาวซีเรียจำนวนมากจะเฉลิมฉลองการล่มสลายของอัสซาด แต่อนาคตยังคงไม่แน่นอน การขาดรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอาจทำให้การคว่ำบาตรยังคงอยู่ ซึ่งจะซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจและมนุษยธรรมในประเทศต่อไป