เกาะติดทิศทางการค้า อเมริกา-จีน หาก “ทรัมป์” ชนะศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024

06 พ.ย. 2567 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 15:54 น.

ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ชี้ชะตาการค้าโลก จีนลั่น ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่า ”โดนัลด์ ทรัมป์“ หรือ ”กมลา แฮร์ริส“ จะชนะ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 เป็นการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน และ "กมลา แฮร์ริส" จากพรรคเดโมแครต ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้รับการจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากผู้ชนะจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน คู่แข่งทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา

แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร หลายฝ่ายในจีนเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าใครคือผู้ชนะ เพราะโครงสร้างการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองประเทศได้กลายเป็นความจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยง

 

ในขณะเดียวกัน รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า จีนเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณกว่า 10 ล้านล้านหยวนในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อรับมือผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจเข้มงวดขึ้นหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง รัฐบาลจีนคาดว่าจะใช้มาตรการนี้ในการเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ผันผวน รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงานเพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงภายนอก

เมื่อเปรียบเทียบผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนในเชิงนโยบาย "กลมา แฮร์ริส" มีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้รักษาความสัมพันธ์กับพันธมิตรสหรัฐฯ ในเอเชีย ทำให้เกิดความคาดหวังว่าหากแฮร์ริสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ การคว่ำบาตรและนโยบายกีดกันจีนที่ริเริ่มโดยฝ่ายบริหารของ โจ ไบเดน อาจคงอยู่ แต่จะเป็นไปในทางที่มีแบบแผนชัดเจนมากขึ้น ตรงข้ามกับ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาใช้มาตรการภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เข้มงวดขึ้น และยังมีแนวคิดจะยกเลิกสถานะชาติที่ได้รับการปฏิบัติอย่างดีของจีนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจีนเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้ง่าย

 

การเพิ่มภาษีที่ทรัมป์เสนอซึ่งสูงกว่า 60% จะทำให้ GDP จีนลดลงถึง 0.5-0.7% เพิ่มแรงกดดันระยะสั้นและความวิตกในกลุ่มผู้ผลิตในจีน ซึ่งเกรงว่าการยกระดับสงครามการค้าจะเพิ่มต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่จำหน่ายสินค้าไปยังสหรัฐฯ กว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี การเก็บภาษีในระดับสูงเช่นนี้อาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากต้องลดการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายราคาสินค้าแพงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนชาวจีนในการสร้างธุรกิจใหม่

การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ในสหรัฐฯ เกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมของคณะรัฐมนตรีจีนในสัปดาห์นี้ ซึ่งทางจีนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่หากทรัมป์ชนะ เพราะเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแออยู่ในขณะนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามการค้าครั้งใหม่ หากทรัมป์เดินหน้ากดดันจีนผ่านการเก็บภาษีและการกีดกันทางการค้า 

ในด้านความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรในเอเชีย คาดว่าทรัมป์อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มแบบพหุภาคีเหมือนยุคของโจ ไบเดน แต่พันธมิตรหลายกลุ่มในเอเชียอย่าง QUAD และ AUKUS ก็อาจจะยังคงอยู่ เนื่องจากเป็นความร่วมมือที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลจีน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทรัมป์เคยแสดงความเห็นว่า ไต้หวันควรจ่ายค่าคุ้มครองจากสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันเขายังใช้ประเด็นไต้หวันเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับจีนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ในทางกลับกัน แฮร์ริสจะใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมาในการสนับสนุนไต้หวันผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคแม้ไม่คาดหวังว่าจะเจรจากับจีนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนและการย้ายซัพพลายเชนไปประเทศอื่น อาจทำให้ภาคการผลิตของจีนต้องเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้นักวิเคราะห์ในจีนย้ำว่าไม่ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะเป็นใคร สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับจีน เพราะทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตให้ความสำคัญกับการควบคุมอิทธิพลของจีน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความคาดหวังและความกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าหรือการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นตัวชี้ชะตาทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีน รวมถึงอีกหลายประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียในช่วงหลายปีข้างหน้า