จากลินคอล์นถึง “โดนัลด์ ทรัมป์” ย้อนเส้นทางความรุนแรงต่อผู้นำสหรัฐฯ

14 ก.ค. 2567 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 11:26 น.

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของการลอบสังหารประธานาธิบดีและบุคคลสำคัญทางการเมืองของสหรัฐฯในอดีต จากเหตุการณ์ความพยายามลอบสังหาร "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่รอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด

การลอบสังหารทางการเมืองในสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าตกใจ ความพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด เมื่อกระสุนเฉียดใบหูขวาของเขา ขณะกำลังกล่าวปราศรัยหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของผู้แสวงหาคะแนนเสียงในประเทศที่รัฐธรรมนูญรับประกันสิทธิของพลเมืองในการพกพาอาวุธ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อดีตประธานาธิบดี และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตกเป็นเป้าหมายของกระสุนปืน จาก 45 คนที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มี 4 คนที่ถูกลอบสังหารขณะดำรงตำแหน่ง การลอบสังหารทางการเมืองจึงระทบกระเทือนต่อจิตวิญญาณของชาวอเมริกันอย่างรุนแรง

 

การสังหาร อับราฮัม ลินคอล์น ในปี 1865 และ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในปี 1963 เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ส่วน เจมส์ การ์ฟีลด์ ในปี 1881 และวิลเลียม แมคคินลีย์ ปี 1901 อาจไม่ค่อยเป็นที่จดจำ แต่การเสียชีวิตของพวกเขาก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประเทศในขณะนั้น ซึ่งหลังจากการลอบสังหารแมคคินลีย์ หน่วยรักษาความปลอดภัยสหรัฐฯ (U.S. Secret Service) ได้รับมอบหมายให้คุ้มครองประธานาธิบดีแบบเต็มเวลา

Abraham Lincoln เครดิตภาพ : whitehouse.gov

ประธานาธิบดีอเมริกันคนสุดท้ายที่ถูกยิงคือ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินในปี 1981

โรนัลด์ เรแกน  เครดิตภาพ : whitehouse.gov

เรแกนกำลังออกจากโรงแรมในวอชิงตันหลังจากกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อมือปืน จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ยิงปืนขนาด .22 กระสุนนัดหนึ่งสะท้อนจากรถลีมูซีนของประธานาธิบดีและเข้าที่ใต้รักแร้ซ้ายของเขา เรแกนใช้เวลา 12 วันในโรงพยาบาลก่อนกลับสู่ทำเนียบขาว

ประธานาธิบดีคนอื่นๆ ก็เคยถูกยิง แต่โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ

ปี 1933 มือปืนยิง 5 นัดใส่รถของประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ รูสเวลต์ไม่ถูกยิง แต่นายกเทศมนตรีชิคาโก แอนตัน เชอร์แมค ซึ่งกำลังพูดคุยกับรูสเวลต์หลังจากที่ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ ต่อสาธารณชน ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 19 วันต่อมา

เดือนกันยายน 1975 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด รอดพ้นจากความพยายามลอบสังหารสองครั้ง 

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากความพยายามลอบสังหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี ที่ถูกสังหารในปี 1968 และจอร์จ วอลเลซ ที่ถูกยิงและเป็นอัมพาตในปี 1972

ปี 1912 อดีตประธานาธิบดีธี โอดอร์ รูสเวลต์ ถูกยิงที่หน้าอกด้วยกระสุนขนาด .38 ขณะที่เขารณรงค์หาเสียงเพื่อกลับมาดำรงตำแหน่งที่ทำเนียบขาว แต่แรงกระแทกของกระสุนถูกรองรับโดยสิ่งของในกระเป๋าเสื้อด้านอกของรูสเวลต์ แม้จะถูกยิง รูสเวลต์ก็ยังคงกล่าวปราศรัยหาเสียงโดยที่กระสุนยังคงอยู่ในหน้าอกของเขา

บุคคลอื่นๆ ที่มีอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ  แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็เคยถูกปลิดชีวิตด้วยกระสุนปืนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในปี 1968 เพียงไม่กี่เดือนก่อนการเสียชีวิตของ บ็อบบี้ เคนเนดี

เช่นเดียวกับทรัมป์ ความพยายามลอบสังหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อผู้สมัครและนักการเมืองอยู่ในที่สาธารณะที่มีฝูงชนอยู่ใกล้ๆ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่นักการเมืองต้องกการเข้าใกล้มวลชน ในสถานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของพวกเขา ทั้งที่ขัดกับคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย เเต่โดนัลด์ ทรัมป์โชคดี ที่รอดพ้นมาได้โดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกลอบยิง เครดิตภาพ : reuters

ที่มา