สื่อนอกเผย 4 คดีการเมืองอาจนำไทยไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ 

18 มิ.ย. 2567 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2567 | 16:08 น.

4 คดีดังทางการเมืองนำมาซึ่งบรรยากาศความไม่แน่นอนที่อาจนำไปสู่ "วิกฤตการเมืองครั้งใหม่" สำหรับประเทศไทย ที่บอบช้ำมายาวนานนับสิบปีกับความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย ที่นำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่และการรัฐประหาร

สื่อต่างประเทศรายงานว่า คดีดังทางการเมือง ที่มีการพิจารณากันในวันนี้ (18 มิ.ย.) อาจนำไปสู่ วิกฤตครั้งใหม่ ในหน้าประวัติศาสตร์ การเมืองไทย เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคลสำคัญทั้งในและนอกรัฐบาล คือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และผู้ทรงอิทธิพลพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ยังเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2566 แต่กลายมาเป็นฝ่ายค้าน และความซับซ้อนที่ก่อให้เกิดข้อกังขาในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่อาจนำไปสู่ความยุ่งเหยิงในที่สุด 

อัลจาซีรา สื่อใหญ่จากตะวันออกกลางประมวลภาพบรรยากาศความไม่แน่นอนที่อาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย ที่บอบช้ำมายาวนานนับสิบปีกับความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย ที่นำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่และการรัฐประหาร ผ่านการอ้างอิงบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยธนาคารเอเอ็นแซด (ANZ Research) ที่ระบุว่า      
"คดีเหล่านี้ เน้นให้เห็นถึงความเปราะบางและความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของบรรยากาศการเมืองไทย" พร้อมเตือนว่า ผลพวงที่ตามมามีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนกันอีกครั้ง 

ไล่เรียงไปตั้งแต่คดีแรกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 สืบเนื่องจากการที่ 40 สว. ยื่นเรื่องถอดถอนนายเศรษฐาให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดศาล

สื่อนอกเผย 4 คดีการเมืองอาจนำไทยไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ 

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 โดยในวันนี้ นายกฯเศรษฐายังคงรักษาอาการป่วยจากการติดโควิด และได้มอบหมายงานให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลแทน รวมทั้งมอบหมายงานอื่นๆ ให้รัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจแทนทุกภารกิจ ที่ผ่านมา นายเศรษฐาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหั้งา แต่ถ้าศาลตัดสินให้เขามีความผิด นั่นหมายถึงประเทศไทยจะได้นายกฯคนใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยต้องเสนอชื่อขึ้นมาแทน และสภาต้องโหวตให้การรับรอง

ส่วนคดีพรรคก้าวไกล (Move Forward Party) ศาลรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคภายในกำหนด 10 ปี โดยกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เรื่องนี้ทางพรรคปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดใดๆ  

คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสว.นั้น ศาลนัดลงมติ 4 มาตรา พ.ร.ป.สว. การเลือกกันเองผู้สมัครระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเป็นกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันเดียวกัน
 
แต่นั่นก็อาจไม่อยู่ในโฟกัสความสนใจเท่ากรณีอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งอัยการสูงสุดได้นายทักษิณมาสั่งฟ้องในคดีอาญา มาตรา 112 และกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการที่เขาให้สัมภาษณ์เดอะโชซอนมีเดีย (The ChosunMedia) สื่อของเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ที่กรุงโซล มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน วันนี้ (18 มิ.ย.) นายทักษิณเดินทางไปพบพนักงานอัยการด้วยตัวเอง และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว โดยห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า คดีใหญ่เหล่านี้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเสถียรภาพการเมืองของประเทศไทย ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งผลให้เกิดแรงเทขายของนักลงทุน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยย่อตัวถึงจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากคดีเหล่านี้เป็นคดีใหญ่ทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่การถอดถอนนายกรัฐมนตรี และยุบพรรคก้าวไกล อีกทั้งคดีหมิ่นสถาบันของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ได้เพิ่มระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยในห้วงเวลานี้ 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวกับรอยเตอร์ว่า คดีของนายกฯ เศรษฐา จะมีผลกระทบมากที่สุด เพราะว่า หากมองในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ถ้าหากเขาสูญเสียตำแหน่ง นายกฯ คนใหม่จะต้องถูกเลือกขึ้นมาและต้องตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อยสองเดือน

รอยเตอร์ยังอ้างอิงความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับคดีนายทักษิณว่า การที่อดีตนายกฯวัย 74 ปี ถูกสั่งฟ้องนั้น เป็นเพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมและฝ่ายกองทัพที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองของไทย ต้องการแสดงให้นายทักษิณรู้ว่า ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเขากำลังถูกตรวจสอบและถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้นายทักษิณจะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ยังเป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลผสมของไทยในเวลานี้ อีกทั้งคนใกล้ชิดเขาหลายคนก็ได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน

ด้าน เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ สื่อฮ่องกง รายงานว่า สำหรับประเทศไทย นี่คือ "วันพิพากษา" (Judgement Day) หรืออาจจะเรียกว่า "วันวิบัติ" (Train-wreck Day) ก็ได้ โดยอนาคตการเมืองไทยได้ตกอยู่ในกำมือของฝ่ายตุลาการแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน ทั้งฝ่ายรัฐบาล (นายกฯเศรษฐา รวมทั้งอดีตนายกฯทักษิณ) และฝ่ายค้าน (พรรคก้าวไกล) ต่างก็สุ่มเสี่ยงที่จะ "อยู่" หรือ "ไป" พอๆกัน และอาจทำให้ไทยตกเข้าสู่วังวน หรือวัฏจักร ของความแตกแยกที่เคยเป็นมาในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว การชุมนุมประท้วง หรืออาจจะรวมถึงการเข้ามามีบทบาทของกองทัพ อาจจะกลับมาอีกครั้ง