อังกฤษ-สหรัฐร่วมคัดค้าน หลังอัยการศาลอาญาโลกเสนอออกหมายจับ “เนทันยาฮู”

22 พ.ค. 2567 | 05:59 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2567 | 07:05 น.

ปฏิกิริยานานาชาติมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน เมื่อหัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เสนอให้ออกหมายจับ "เบนจามิน เนทันยาฮู" นายกรัฐมนตรีอิสราเอล พร้อมรัฐมนตรีกลาโหม และแกนนำกลุ่มฮามาสอีก 3 คน ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

หลังจากที่หัวหน้าอัยการของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เสนอให้มีการ ออกหมายจับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายโยอาฟ กัลเเลนต์ รัฐมนตรีกลาโหม และ แกนนำกลุ่มฮามาส อีก 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส หลายประเทศมีปฏิกิริยาทั้งในเชิงสนับสนุนและคัดค้าน จนเห็นได้ชัดว่าการกระบวนการออกหมายจับบุคคลเหล่านี้ อาจต้องฝ่าอุปสรรคอีกหลายด่าน

ฝรั่งเศส เบลเยียม สโลวีเนีย หนุนออกหมายจับ

กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม และสโลวีเนีย ออกแถลงการณ์วานนี้ (21 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) สนับสนุนการที่หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เสนอขออนุมัติออกหมายจับผู้นำอิสราเอลซึ่งประกอบด้วยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และนายโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล และแกนนำกลุ่มฮามาส 3 คน ได้แก่ นายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสเบอร์1 และนายโมฮัมเมด ดิอับ อิบราฮิม อัลมาซรี ผู้นำทางด้านการทหาร และนายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่ม

ทั้งนี้ นายคาริม คาน หัวหน้าอัยการของ ICC ได้เสนอการออกหมายจับบุคคลเหล่านี้ ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค.2566 และสงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา

“บุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมสงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในฉนวนกาซาและอิสราเอล”

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของเขายังคงต้องผ่านการอนุมัติจากคณะตุลาการของ ICC ซึ่งจะทำการประชุมพิจารณาว่าจะรับคำเสนอของหัวหน้าอัยการหรือไม่

อังกฤษ โปแลนด์ สหรัฐคัดค้านหัวชนฝา

อย่างไรก็ตาม นอกจากเสียงสนับสนุนแล้ว ก็ยังคงมีผู้ที่คัดค้านท่าทีดังกล่าวของ ICC ซึ่งหนึ่งในผู้คัดค้านการออกหมายจับผู้นำอิสราเอล ก็คือนายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เขากล่าวเมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) ว่า การที่หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ขออนุมัติออกหมายจับผู้นำอิสราเอลและฮามาส ถือเป็น “ความผิดพลาด” อย่างเห็นได้ชัด

"ผมไม่คิดว่าการออกหมายจับดังกล่าวจะช่วยเรื่องปล่อยตัวประกัน และจะไม่ช่วยให้มีการหยุดยิงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การเปรียบเทียบผู้นำฮามาสว่าเหมือนกับผู้นำอิสราเอล ถือเป็นความผิดพลาดอย่างชัดเจน" นายคาเมรอนกล่าว

ด้านนายโดนัลด์ ทัสค์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวโจมตีการที่หัวหน้าอัยการของ ICC ขออนุมัติออกหมายจับผู้นำอิสราเอลและแกนนำฮามาสเช่นกัน โดยเขาให้เหตุผลว่า ความพยายามในการเปรียบเทียบว่านายกรัฐมนตรีของอิสราเอลเหมือนกับผู้นำขององค์การก่อการร้ายอย่างกลุ่มฮามาส และการที่สถาบันระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อออกมาตรการตอบโต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หากมีการขออนุมัติออกหมายจับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลขึ้นมาจริงๆ โดยเขาย้ำว่า การดำเนินการของ ICC เช่นนั้น จะสร้างความยากลำบากต่อการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกันระหว่างอิสราเอลและฮามาส

"การที่ ICC นำอิสราเอลมาเปรียบเทียบกับฮามาสถือเป็นสิ่งที่น่าละอาย เพราะฮามาส คือ องค์การก่อการร้ายสุดเหี้ยมโหดที่ทำการฆาตกรรมหมู่ชาวยิวอย่างเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่การสังหารหมู่ชาวยิวนับล้านในยุโรป (Holocaust) นอกจากนี้ ยังจับผู้บริสุทธิ์นับร้อยคนซึ่งรวมถึงชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไปเป็นตัวประกัน" บลิงเคนระบุ

อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ นายบลิงเคนยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการที่จะตอบโต้ ICC ว่าจะเป็นอย่างไร

ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งนี้ ICC มีสมาชิก 124 ประเทศ แต่ไม่รวมอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรหลักของรัฐบาลอิสราเอล นอกจากนี้ จีนและรัสเซีย ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC ซึ่งเป็นองค์กรยุติธรรมระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศสหภาพยุโรปเกือบทุกประเทศเป็นสมาชิกของ ICC

หากประเทศใดเป็นสมาชิกของ ICC รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องจับกุมตัวบุคคลที่ศาล ICC ต้องการตัวโดยทันที โดยศาล ICC ไม่มีเครื่องมือที่จะบังคับใช้การออกหมายจับ

อย่างไรก็ตาม หากว่ามีการออกหมายจับผู้นำอิสราเอลจริง อย่างน้อยประเทศสมาชิกศาล ICC ซึ่งรวมถึงประเทศสหภาพยุโรปเกือบทุกประเทศ ก็อาจต้องเผชิญความยากลำบากทางการทูตกับอิสราเอล

ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้เคยออกหมายจับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โดย ICC กล่าวหาว่า ผู้นำรัสเซียมีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน ซึ่งรวมถึงการขนย้ายเด็กอย่างผิดกฎหมายจากยูเครนไปยังรัสเซีย โดย ICC ระบุว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียเปิดการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม มอสโกปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ปธน.ปูตินเลือกการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเยือนประเทศที่เป็นสมาชิก ICC แต่ยังคงเดินทางไปจีน ที่เป็นพันธมิตรรายใหญ่ของรัสเซีย และไม่ได้เป็นสมาชิก ICC เป็นต้น