“เมียวดี” อู่ข้าวอู่น้ำ-แหล่งรายได้ที่เมียนมาไม่ยอมเสียให้กลุ่มต่อต้าน  

22 เม.ย. 2567 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2567 | 12:21 น.

กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่า ทหารของรัฐบาลกลางที่ประจำการอยู่ในเมืองเมียวดี อยู่ในภาวะขวัญเสียจนยอมละทิ้งหน้าที่หนีออกจากเมืองศูนย์กลางการค้าชายแดนที่สำคัญแห่งนี้ไปแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน กองทัพเมียนมาก็เปิดศึกยึดเมืองเมียวดีคืน

การปะทะกันอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง ระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา โดยมีเมืองเมียวดีเป็นสมรภูมิ ส่งผลให้มีชาวเมียนมาราว 3,000 คนอพยพหนีภัยสงครามเข้ามายังฝั่งชายแดนฝั่งไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้ยึดเมืองเมียวดีตรงพรมแดนติดกับไทยไว้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถือเป็นความเสียหายอย่างหนักต่อกองทัพเมียนมาซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่า แต่หลังจากนั้น ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาก็พยายามบุกกลับมาเพื่อยึดพื้นที่คืน โดยจากคำบอกเล่าของพยานระบุว่า มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้กับสะพานเชื่อมพรมแดนสองประเทศตั้งแต่คืนวันศุกร์ต่อเนื่องวันเสาร์-อาทิตย์ มาจนถึงขณะนี้  

การรายงานจากพื้นที่เมืองเมียวดีของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสภาพของเมืองเมียวดีที่เป็นสนามรบดุเดือดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังคงตกอยู่ในสภาพร้างและเสียหายไปทั่ว

ซอ คอ ผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมาที่ร่วมต่อสู้ในเมืองเมียวดี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พวกเขาเข้ายึดฐานทัพได้ 3 แห่งและเข้าควบคุมพื้นที่ต่าง ๆ ได้ภายในเวลาสั้นมาก ๆ โดยทหารของกองทัพเมียนมาได้พากันหลบหนีออกไปหมด

เมืองเมียวดีของเมียนมา เมื่อมองจากฝั่งไทยด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ภาพข่าว AFP)

ในเวลานี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่อารักขาพื้นที่เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่เคยภักดีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา หรือกะเหรี่ยง KNA  ได้กลับมาทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นที่เมืองหน้าด่านติดชายแดนที่สำคัญแห่งนี้ หลังกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจปล่อยให้กองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU เข้ายึดเมืองเมียวดีเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

รอยเตอร์ระบุว่า ทีมผู้สื่อข่าวของตนได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้เข้าไปในพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อวันจันทร์ (15 เม.ย.) และได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของกองกำลังดังกล่าว รวมทั้งพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและนักวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลมาประกอบรายงานนี้ด้วย

เมียวดี เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งรายได้สำคัญที่สูญเสียไม่ได้

เมียวดี เป็นด่านการค้าชายแดนติดกับไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 37,000 ล้านบาท

การที่เมืองเมียวดีตกอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มต่อต้านกองทัพนั้นหมายถึง การที่เมืองซึ่งเป็นจุดผ่านแดนสำคัญที่สุดของเมียนมา ต้องหลุดจากการควบคุมของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมกันได้ง่ายๆ ไปแล้ว ก่อนหน้านี้ เมียนมาก็เพิ่งสูญเสียการควบคุมเมืองด่านชายแดนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือเมืองมูเซ (หมู่เจ้) ที่อยู่ติดกับชายแดนจีน โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ยึดจากกองทัพรัฐบาลกลางได้เมื่อปีที่แล้ว

ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่เกิดขึ้นไม่ไกลจากพื้นที่ภาคกลางของประเทศ อาจกระทบต่อเส้นทางขนส่งสำคัญที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของกองทัพ (ภาพข่าว AFP)

สถานการณ์นี้หมายถึงการที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะสูญเสียแหล่งรายได้สำคัญหลักที่มาจากการค้าข้ามแดนไปแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศก็อยู่ในภาวะดิ่งลงหนัก และปัญหาความยากจนก็รุนแรงขึ้นถึง 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา (ตามข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ)

สถาบัน Institute for Strategy and Policy-Myanmar (ISP) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ประเมินว่า หลังการเสียเมืองเมียวดีให้กับฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลทหารเมียนมาน่าจะสูญรายได้จากการเก็บภาษีการค้าภาคพื้นดินไปถึง 60% เลยทีเดียว และยังทำให้รัฐบาลที่อำนาจอยู่ในมือกองทัพตกอยู่ในจุดที่อ่อนแอที่สุด นับตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี เมื่อต้นปี 2021

รอยเตอร์ติดต่อไปยังโฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เช่นเดียวกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (Karen Buddhist Army) และกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army – KNA) ที่ยังคงทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นที่บางส่วนของเมียวดีและพื้นที่รอบ ๆ ก็ไม่ตอบรับการขอความเห็นของผู้สื่อข่าว

ข้อเท็จจริงที่ว่า จนถึงบัดนี้ ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงข้างต้น ยังไม่ได้ประกาศตนว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาอย่างเต็มตัว สะท้อนให้เห็นถึงโจทย์สำคัญต่อไปของกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่มากมายหลายกลุ่มในเมียนมา นั่นก็คือ การหาทางทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับรัฐบาลทหารเมียนมาให้ได้

ซอ ตอ นี โฆษกของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU กล่าวว่า สิ่งแรกที่พวกเขาจะทำคือ “เราไม่ฆ่ากันเอง แล้วเราค่อยเริ่มไปต่อจากจุดนั้น”

แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพ คาดว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะพยายามยึดเมืองเมียวดีคืนให้ได้ภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ เพื่อสกัดกั้นฝ่ายต่อต้านไม่ให้เข้าถึงเส้นทางหลวงสายสำคัญที่วิ่งผ่านใจกลางประเทศอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่เกิดขึ้นไม่ไกลจากพื้นที่ภาคกลางของประเทศ อาจกระทบต่อเส้นทางขนส่งสำคัญที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของกองทัพ และอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อขวัญกำลังใจของกองทัพด้วย

ด้านมอร์แกน ไมเคิลส์ จากสถาบัน International Institute for Strategic Studies เคยให้ความเห็นไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีความน่าเกรงขามอยู่ และมีแนวโน้มว่า น่าจะยังคงรักษาอำนาจการควบคุมรัฐบาลและพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเอาไว้ได้ ถ้าไม่ได้เกิดการก่อกบฏหรือการแทรกแซงจากภายนอกขึ้นมาเสียก่อน