ค้าไทย-เมียนมา 2 แสนล้าน สะเทือนยาว ดันค่าขนส่งพุ่งแรง

20 เม.ย. 2567 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 08:48 น.
1.3 k

ความไม่สงบในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน และคู่ค้าสำคัญของไทยโดยเฉพาะการค้าชายแดน ที่สร้างเม็ดเงินสะพัดนับแสนล้านบาทต่อปี (ภาพรวมไทยค้ากับเมียนมามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี) ยังน่าห่วง

ค้าไทย-เมียนมา 2 แสนล้าน สะเทือนยาว ดันค่าขนส่งพุ่งแรง

เมื่อสถานการณ์ในเมียนมายังไม่สงบ สะท้อนผลกระทบการค้าอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเส้นทาง และต้นทุนค่าขนส่ง ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจเมียนมานับจากนี้ รวมถึงในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดมุมมอง นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่ฉายภาพให้เห็นความเคลื่อนไหวต่อทิศทางสถานกาณ์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ย้อนภาพก่อน ศก.เมียนมาชะงัก

นายกริช กล่าวว่า นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา ได้มีความไม่สงบจากการรวมตัวของกลุ่มกองกำลังพันธมิตรชนชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง (MNDAA) กองกำลังอาระกัน (AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชนชาติตะอาง(TNLA) ทำให้เกิดปฎิบัติการยุทธการ 1027 ต่อมาเหตุการณ์ได้บานปลายมายังชายแดนไทย-เมียนมา ด้านเมืองชายแดนฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กระทั่งมีการวางระเบิดสะพานของกองกำลังกระเหรี่ยงบางฝ่าย ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มพันธมิตร 3 กลุ่มดังกล่าว จนทำให้การสัญจรของรถบรรทุกสินค้ามีปัญหาอยู่ระยะหนึ่ง สร้างความเสียหายให้กับการค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา จนเป็นที่กังวลใจของพ่อค้าชายแดนและนักธุรกิจไทย-เมียนมา

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

“ต่อมาสถานการณ์ได้คลี่คลายได้ดีพอสมควร แต่การคมนาคมก็ยังคงมีปัญหาต้องระมัดระวังกันอยู่ บริษัทขนส่งที่อยู่ฝั่งเมียนมาเอง ก็ได้เริ่มหาช่องทางในการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถกันใหม่”

ดันค่าขนส่งพุ่งแรง 30%

นายกริช กล่าวอีกว่า การขนส่งต้องหันมาใช้เส้นทางเก่า ที่ในอดีตเคยใช้กันก่อนที่จะมีการสร้างเส้นทางสายใหม่ ระหว่างเมียวดี-กอกะเร็ก ที่เป็นถนนสายหลักที่ไม่ได้รับความเสียหายในการค้าดังกล่าว ซึ่งถนนสายเก่าเป็นถนนที่ไม่สะดวกเหมือนถนนสายใหม่ แต่ก็ยังพอที่จะรองรับการเดินรถขนส่งสินค้าได้บ้าง แต่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ปรับสูงขึ้นมาประมาณ 30% ทำให้ต้นทุนสินค้าจากไทยที่เข้าสู่ตลาดเมียนมา ต้องปรับสูงขึ้นซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด ดังนั้นตัวเลขการค้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงทุกเดือน

ค้าไทย-เมียนมา 2 แสนล้าน สะเทือนยาว ดันค่าขนส่งพุ่งแรง

ค้าชายแดนไทย-เมียนมาวูบ

สำหรับสิ่งที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ คาดว่ามูลค่าการค้าของการค้าชายแดนไทย-เมียนมาในปีนี้ ไม่น่าจะถึง 2 แสนล้านบาท จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งความรุนแรงของการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งรวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์ของกลุ่มกระเหรี่ยง ที่มีที่ตั้งอยู่ตามตะเข็บชายแดนด้านฝั่งเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา 80% มาจากด่านชายแดนด้านเมียวดี

“หากการต่อต้านทางฝั่งเมียวดียังคงเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง และด้านฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ซึ่งอยู่ในเขตรัฐฉานยังคงไม่สามารถควบคุมได้เหมือนเช่นทุกวันนี้ จะส่งผลลบต่อเมียนมาอย่างรุนแรง เพราะวันนี้การค้าระหว่างประเทศของเมียนมา พึ่งพาการค้าชายแดนเป็นหลัก ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ต้องถูกกระหนํ่าซํ้าเติมสาหัสขึ้นกว่าเดิม”

นอกจากนี้ปัญหาการเกณฑ์ทหาร ที่ถูกประกาศออกมาเมื่อวันตรุษจีนที่ผ่านมา (รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎหมายบังคับให้ชายอายุ 18-35 ปี และหญิงอายุ 18-27 ปี ทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี) ส่งผลทำให้เกิดการหลบหนีของกลุ่มบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ รวมถึงเดินทางออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ

คนกลุ่มนี้เป็นประชากรวัยทำงาน และเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่มีมากถึง 24 ล้านคน ซึ่งจะสะเทือนถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นประเทศแรกที่เขานึกถึงในการหลบหนี ง่ายในการหลบหนี หางานง่ายกว่าประเทศอื่น ปลอดภัยกว่าประเทศอื่น มีแรงงานชาวเมียนมาอยู่มากที่สุด และที่สำคัญค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

“วันนี้มีชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในไทยไม่ตํ่ากว่า 4 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขชาวเมียนมาที่เข้ามาอาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่ทางการไทยเราประกาศออกมา มีประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าว จึงเป็นระเบิดเวลาที่รอให้รัฐบาลไทย เข้าไปจัดการ”

ศก.เมียนมาครึ่งหลังน่าห่วง

เมื่อถามว่าภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจากนี้ไปจะไปทางไหน นายกริช กล่าวว่าในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับการครบรอบ 3 ปีของการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศเลื่อนการปลดล็อคสภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน นั่นหมายถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ของเมียนมา ย่อมถูกเลื่อนออกไปด้วย

ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งครั้งใหม่ของเมียนมา อาจจะต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด คงต้องเป็นปลายปีหน้า จึงจะสามารถดำเนินการได้ ผลของการเลื่อนสภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา ยังต้องรออีกยาวนาน อีกทั้งการแทรกแซงจากชาติตะวันตก จะยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะเห็นประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมา