หายนะชนชั้นกลางเมียนมา ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือด

21 เม.ย. 2567 | 15:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2567 | 15:43 น.

ท่ามกลางความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในเมียนมา รายงานเผยให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ "ชนชั้นกลาง" ในประเทศเมียนมากำลังหาย ขณะที่ "ความยากจน" กำลังเข้ามาแทนที่

เหตุการณ์ความไม่สงบใน "เมียนมา" กำลังเป็นที่สนใจต่อผู้คนทั่วโลก ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบให้พลเรือนจำนวนมากต้องพลัดถิ่น หลายฝ่ายเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง

สำหรับประเทศไทย มีชายแดนติดกับพื้นที่การสู้รบในเมียนมา สถานการณ์ล่าสุด (21 เม.ย.67) ชาวเมียนมายังทะยอยเข้าไทยรวมกว่า 3 พันคนแล้ว 

วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาระดมอากาศยานทิ้งระเบิดบริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย พม่า แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ที่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด รวมทั้งทิ้งระเบิดในพื้นที่ฐานที่มั่นกองพล 44 ค่ายผาซอง 275 การทิ้งระเบิดส่งผลทำให้เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นลั่นเมืองแม่สอดและบริเวณชายแดนไทยเมียนมา โดยล่าสุด รพ.แม่สอด ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับสูงสุด รับมือผู้บาดเจ็บจากสงครามกลุ่มต่อต้านปะทะทหารเมียนมาเเล้ว 

 

ใครสู้รบกัน? 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพทหารเมียนมากับทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 67 กองกำลัง KNU ได้ออกแถลงการณ์ สามารถยึดพื้นที่โดยรอบเมืองเมียวดีได้เกือบทั้งหมด หรือเป็นพื้นที่กว่า 90% เหลือเพียงแต่เมืองเมียวดีเท่านั้น

ความยากจนกำลังเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางในเมียนมากำลังหายไป

ภาพนองเลือดและความวุ่นวายในเมียนมาดูเหมือนจะไม่มีบทสรุป ขณะที่ "ชนชั้นกลาง" ที่ถือเป็นพลังสำคัญในการผลักดันสังคมก้าวหน้า กำลังหายไปท่ามกลางความไม่มั่นคงและความขัดแย้งที่เลวร้ายลง โดยมี "ความยาก" จนเข้ามาเเทนที่ 

สะท้อนจากหลักฐานของ UNDP รายงานว่า ชนชั้นกลางหดตัวลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหารปี 2564 และ 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศมีชีวิตอยู่อย่างยากจนหรือใกล้จะเสี่ยงอันตรายกับเส้นความยากจนของประเทศ

ข้อมูลใหม่แสดงให้เห็นว่าประชากรไม่ถึง 25 % ในเมียนมา สามารถจัดการรายได้ที่มั่นคงเพื่ออยู่เหนือเส้นความยากจนได้ หากไม่มีการแทรกแซงอย่างทันท่วงที สนับสนุนเงิน ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ช่องโหว่ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และผลกระทบจะถูกส่งไปยังคนรุ่นต่อไป

ตามการประมาณการของ UNDP ต้องใช้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นผ่านการสนับสนุนเงินและวิธีการอื่นๆ เพื่อช่วยให้ครอบครัวต่างๆ ฟื้นตัวจาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรูปตัว L ( L-shaped recession) ซึ่งก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานานโดยแทบไม่มีการฟื้นตัวเลย  ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำและมีสัญญาณการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย

 

การใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นศูนย์

จากการสำรวจครัวเรือนกว่า 12,000 ครัวเรือนทั่วประเทศเมียนมา รายงานยังพบว่าครอบครัวและครัวเรือนถูกบังคับให้หันไปใช้กลไกการรับมือต่างๆ ที่มักไม่ยั่งยืน

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การใช้จ่ายด้านการศึกษามีน้อย 2-3 % ของรายได้ครัวเรือน ตอนนี้เกือบเป็นศูนย์แล้ว นอกจากนี้ครอบครัวต่างๆ กำลังดึงเด็กออกจากโรงเรียนและไม่สามารถใช้จ่ายได้ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและบริการพื้นฐานอื่น ๆ

ภาพภูมิภาค

รายงานยังเผยภาพที่น่าตกใจในระดับจังหวัด รัฐที่มีอัตรารายได้ต่อหัวต่ำที่สุดคือ Kayah, Chin และ Sagaing ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ประสบความขัดแย้งในระดับสูงระหว่างกองกำลังทหารและกลุ่มที่ต่อต้าน

นอกจากระดับความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ความขัดแย้งยังทำลายบ้านเรือน จำกัดการเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูก และจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ผู้พลัดถิ่นที่เดินทางมาถึงใจกลางเมือง เช่น ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ทั้งเพื่อความปลอดภัยและบริการขั้นพื้นฐาน ไม่มีเครือข่ายความปลอดภัยอีกต่อไป รายงานระบุว่า 

การแพร่กระจายของกลุ่มอาชญากรรม

ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของ UNDP เน้นย้ำถึงความท้าทายที่เกิดจากอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอ้างถึงข้อค้นพบล่าสุดจาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNODC ) ว่า เมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดและมีการแพร่ขยายของกลุ่มอาชญากรรมอย่างมหาศาล 

ที่มา

Poverty and the Household Economy of Myanmar: a Disappearing Middle Class