ใครเป็นใครในสมรภูมิเมียวดี : รู้จักกลุ่มกะเหรี่ยง KNU และกองกำลัง PDF

11 เม.ย. 2567 | 00:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2567 | 01:30 น.
3.3 k

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือที่รู้จักในนาม "กะเหรี่ยง KNU" และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาล กำลังประสบชัยชนะในการยึดครองที่มั่นของกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดี พวกเขาเป็นใคร ที่นี่มีคำตอบ

มีรายงานตลอดวานนี้ (10 เม.ย.) ว่า ยังคงมีเสียงดังคล้ายระเบิดใน เมืองเมียวดี อย่างต่อเนื่อง กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army : KNLA) ของ กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือที่รู้จักกันในนาม “กะเหรี่ยง KNU” และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ยังคงพยายามเดินหน้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ซึ่งเป็นฐานหลักของกองทัพเมียนมาใกล้เมืองเมียวดี ที่สื่อต่างประเทศรายงานว่าเป็น "ฐานที่มั่นสุดท้าย" ที่ฝ่ายกองทัพเมียนมายังคงตรึงกำลังไว้ได้

รายงานข่าวระบุว่า มีการแจ้งเตือนประชาชนในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา และมีชายแดนติดกับอ.แม่สอด จ.ตาก ของประเทศไทย ให้เตรียมการอพยพทันทีหากสถานการณ์ไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า กองทัพเมียนมากำลังส่งรถถังเคลื่อนพลมาจากเมืองเมาะละแหม่ง เพื่อเข้ายึดเมืองเมียวดีคืนจากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลที่มีกะเหรี่ยง KNU เป็นแกนนำ

วันนี้ เรามาทำความรู้จักกันว่า กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เป็นพันธมิตรร่วมรบนั้น เป็นใครมาจากไหน และเหตุใดจึงสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียวดีได้ ณ เวลานี้

กองกำลังหลัก หรือกองทัพของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU มีชื่อเรียกว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA))

กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ กะเหรี่ยง KNU เป็นองค์กรการเมืองของชาวกะเหรี่ยงที่มุ่งแสวงความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในสหพันธ์สหภาพพม่า (Federal Union of Burma) และเหนืออื่นใด คืออำนาจในการปกครองตนเอง จุดมุ่งหมายหลักของกลุ่ม KNU คือการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ (Federal Union) อย่างแท้จริง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการตัดสินใจด้วยตนเอง

KNU ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1947 หลังการแยกตัวเป็นเอกราชของเมียนมาจากอังกฤษ กองกำลังหลักหรือกองทัพของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU มีชื่อเรียกว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army: KNLA) มีกำลังทหารราว 15,000 นาย แบ่งเป็น 7 กองพัน เคลื่อนไหวในพื้นที่เทือกเขาทางภาคตะวันออกของเมียนมา

กลุ่มกะเหรี่ยง KNU เริ่มการต่อสู้กับรัฐบาลกลางเมียนมา มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1949 ด้วยเป้าหมายหลักในยุคแรกเริ่มคือ ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ก่อนที่ต่อมาจะหันมาเรียกร้องให้มีการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ผู้นำคนสำคัญของ KNU ในยุคอดีตที่ผู้คนรู้จักในวงกว้าง คือนายพล โบ เมียะ ซึ่งตั้งตนเป็นประธานาธิบดีของกลุ่มกะเหรี่ยงยาวนานกว่า 24 ปี หรือระหว่างปี ค.ศ. 1976 – 2000

ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU คือนายพล ซอ มูตู เซ โพ (General Saw Mutu Say Poe)

ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU คือนายพล ซอ มูตู เซ โพ  (ภาพข่าว AFP)

กล่าวกันว่า การสู้รบระหว่างกะเหรี่ยง KNU กับกองทัพเมียนมานั้นยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ และถูกยกให้เป็นสงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อนานสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ในปี 2013 มีความเคลื่อนไหวในทางสันติ เมื่อรัฐบาลเมียนมา กับผู้แทนของ 17 กองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มกะเหรี่ยง KNU สามารถลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) กันได้ในปี 2013 (พ.ศ. 2556 เป็นยุคสมัยที่รัฐบาลเมียนมามีนายพลเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี)

ความสงบมาเยือนได้เพียงชั่วคราว เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เมื่อกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งกะเหรี่ยง KNU ก็กลับมาจับปืนสู้รบกับกองทัพรัฐบาลกลางเมียนมาอีกครั้ง โดยในช่วงเวลานั้น กองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ด้วยการโจมตีค่ายของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) ในเมืองสีป้อ (Hsipaw) ซึ่งส่งผลให้กะเหรี่ยง KNU และกองกำลังชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ ถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิง

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว กะเหรี่ยง KNU มีจุดยืนคือ

  • กองทัพเมียนมาต้องวางมือจากการเมือง
  • ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน
  • รัฐบาลทหารเมียนมา ต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่างๆ ที่ผ่านมาโดยไม่มีการนิรโทษกรรม

จุดยืนดังกล่าว สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา ที่ก่อตั้งโดยบรรดาสมาชิกที่เคยเป็นรัฐบาลพลเรือน และมีกองกำลังติดอาวุธของตนเองภายใต้ชื่อ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ People's Defence Force (PDF) ซึ่งก่อเกิดขึ้นมาจากกลุ่มเยาวชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 เพื่อตอบโต้การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั่นเอง

ตามคำแถลงของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF แบ่งออกเป็น 5 กองบัญชาการระดับภูมิภาค คือ กองบัญชาการภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แต่ละกองบัญชาการมีอย่างน้อย 3 กองพลน้อย แต่ละกองพลน้อยประกอบด้วย 5 กองพัน ซึ่งแบ่งออกเป็นกองพันละ 4 กองร้อย

จากการประเมินของ สำนักข่าวอิรวดี ระบุว่า ตัวเลขกำลังพลของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF น่าจะอยู่ที่ประมาณ 65,000 นาย ณ เดือนพฤศจิกายน 2022 แต่ปัจจุบันคาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 นายแล้ว แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่ติดอาวุธครบมือและได้รับการฝึกฝนอย่างทหาร อย่างไรก็ตาม ผู้นำของกองกำลัง PDF เชื่อในการใช้ยุทธวิธีแบบ “สงครามกองโจร” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลกลางเมียนมา

กองกำลังติดอาวุธประกาศชัยชนะในเมียวดี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์ของกองทัพและจากรัฐบาลเงาเมียนมาว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยกะเหรี่ยง KNU และพันธมิตรอย่างกองกำลัง PDF พยายามโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารเมียนมาในกรุงเนปิดอว์ ด้วยโดรนพร้อมกันหลายจุด มาตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.)

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์เมียวดีของกองทัพเมียนมา ระบุในรายงานข่าวภาคดึกวันเดียวกันว่า ความพยายามของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลซึ่งถือเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่พยายามจะทำลายจุดที่ตั้งสำคัญในเมืองหลวงเนปิดอว์นั้น ถูกสกัดเอาไว้ได้ โดยกองทัพเมียนมาสามารถยิงโดรนตกลง 13 ลำ และในจำนวนนี้มี 4 ลำที่ติดระเบิดมาด้วย

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สามารถยึดที่มั่นของกองทัพเมียนมาได้ในหลายพื้นที่

แม้ว่า การโจมตีดังกล่าวจะไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ได้รับความเสียหาย แต่ก็ส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของกองทัพเมียนมา ที่มียุทโธปกรณ์ครบครันกว่ากลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และมองตัวเองว่า เป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถปกป้องอธิปไตยของประเทศได้ โดยใช้กรุงเนปิดอว์เป็นเหมือนป้อมปราการ

“นี่คือช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารจะบังคับให้มีการเกณฑ์ทหารและก่อกระแสความกลัวในหมู่ประชาชน การโจมตีเช่นนี้เข้าใส่ศูนย์กลางประสาทของพวกเขา ซึ่งก็คือ เมืองเนปิดอว์ เป็นการเน้นย้ำว่า พวกเขาไม่มีที่ ๆ จะบอกว่าปลอดภัยได้อีกต่อไป” นายจ่อ ซอว์ โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีกองกำลัง PDF เป็นเสมือนกองทัพ กล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากนั้นเมื่อวันศุกร์ (5 เม.ย.) กลุ่มกะเหรี่ยง KNU ก็ประกาศว่า กองทหารเมียนมาในเขตทานกานยีนอง (Thanganyinaung) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร ได้ยอมแพ้แล้ว ดังนั้น ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา KNU จึงได้เจรจากับกองทหารเมียนมาที่เหลือในเมืองเมียวดี ซึ่งได้ตกลงยอมแพ้เช่นกัน

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานเมื่อวันเสาร์ (6 เม.ย.) ว่า กองทัพเมียนมาถูกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยง KNU ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอื่น ๆ กระหน่ำโจมตีตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดทหารเมียนมาหลายร้อยนายที่รับผิดชอบรักษาเมืองเมียวดี ได้ยอมศิโรราบต่อฝ่ายต่อต้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันมีเพียงกองพันทหารราบที่ 275 และฐานทัพอีกไม่กี่แห่งของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้

กรณีดังกล่าวนับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพเมียนมา หลังจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้ถูกฝ่ายต่อต้าน ยึดฐานที่มั่นในหลายพื้นที่ตามแนวพรมแดนจีนในรัฐฉาน รวมทั้งพื้นที่ต่าง ๆ ในรัฐยะไข่ใกล้พรมแดนบังกลาเทศ