จับตาเลือกตั้ง "ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย" คนใหม่ สานฝันฮับ EV โลก

14 ก.พ. 2567 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 13:54 น.

อะไรคือเดิมพันเมื่อ “อินโดนีเซีย” ประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งการเลือกตั้งระดับเขตและระดับจังหวัดกว่า 20,000 ตำแหน่งในวันนี้ (14 ก.พ.)

 

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มี การเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันนี้ (14 ก.พ.) เริ่มเปิดหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ที่อินโดนีเซียเริ่มปฏิรูปประชาธิปไตยในปี 2541 นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว วันนี้ทั่วประเทศยังจะมีการเลือกตั้งผู้แทนเข้าทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ รวมทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น(ระดับจังหวัดและระดับเขต) รวมแล้วราว 20,000 ตำแหน่ง โดยจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 205 ล้านคน มีคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศมากกว่า 800,000 แห่ง

โดยสภาพภูมิประเทศแล้ว อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ราว 17,000 เกาะ และประชากรมากกว่า 270 ล้านคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 1,300 ชาติพันธุ์ ถือเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายคละเคล้าด้วยประเทศที่ยังเป็นเผด็จการก็มี และบางประเทศก็ยังเป็นประชาธิปไตยที่เพิ่งเกิดใหม่

ใครบ้างที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะกำหนดว่าใครจะมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี โจโค วิโดโด หรือที่รู้จักในชื่อ “โจโควี” ซึ่งดำรงตำแหน่งสมัยที่สองแล้วและจะสิ้นสุดวาระลงในปีนี้ ตามรัฐธรรมนูญนั้นเขาไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ดำรงตำแหน่งมาครบสองสมัยแล้วและสิ้นสุดวาระลงในปีนี้

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 คน คือ นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน และอีกสองคนคือ นายอานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการจังหวัดจาการ์ตา และ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเกินกว่า 50% ในรอบแรก ก็จะมีการแข่งขันระหว่างผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดสองอันดับแรก ในการเลือกตั้งครั้งที่สองในวันที่ 26 มิถุนายน 2567

ส่วนการเลือกตั้งผู้แทนเข้ารัฐสภาแห่งชาติ มีผู้สมัครหลายหมื่นคนจากพรรคการเมือง 18 พรรค แข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งในรัฐสภาที่มี 580 ที่นั่ง

พรรคการเมืองจะต้องมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งอย่างน้อยทุกๆ สามตำแหน่งในบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของตน และพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 4% ทั่วประเทศจึงจะมีคุณสมบัติเป็นตัวแทนในรัฐสภาแห่งชาติ

พรรคหรือแนวร่วมของพรรคต่างๆ จำเป็นต้องควบคุมที่นั่งอย่างน้อย 20% ในรัฐสภาแห่งชาติเพื่อเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสามคน (จากซ้ายไปขวา) นายปราโบโว ซูเบียนโต นายกันจาร์ ปราโนโว และนายอานีส บาสเวดาน

กระบวนการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย

พลเมืองอินโดนีเซียที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ “ตำรวจและทหาร” ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่สมาชิกในครอบครัวของพวกเขาสามารถทำได้

ในการเลือกตั้งปีนี้ ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ลงทะเบียนไว้แล้วประมาณ 52% มีอายุต่ำกว่า 40 ปี โดย 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งทำให้ "การลงคะแนนเสียงของเยาวชน" มีความสำคัญ และบรรดาผู้สมัครก็ได้ใช้ความพยายามในการเข้าถึงและขอความสนับสนุนจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่นี้ด้วยแคมเปญหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ผู้ลงคะแนน สามารถมาใช้สิทธิลงคะแนนได้ที่หน่วยเลือกตั้งที่มีมากกว่า 820,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นสามเขตเวลา คูหาเลือกตั้งจะเปิดตั้งแต่เวลา 7.00 น. และปิดหีบเลือกตั้งเวลา 13.00 น. โดยจะมีเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งและพนักงานอิสระประมาณ 7 ล้านคนเป็นผู้ควบคุมดูแลความเรียบร้อย ส่วนชาวอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศสามารถลงคะแนนตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์แล้ว ที่หน่วยเลือกตั้ง 3,000 แห่งในหลายประเทศหรือทางไปรษณีย์

เมื่อเข้าไปในคูหาลงคะแนน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องกาบัตรลงคะแนน 5 ใบ และเลือก 1 คนจาก 3 คนของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี รวมถึงตัวแทนในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ผู้สำเร็จราชการและเมือง ด้วยขนาดและหลากหลายระดับของการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งของอินโดนีเซียนับเป็นการเลือกตั้งที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก

เหตุใดการเลือกตั้งเหล่านี้จึงมีความสำคัญ

อินโดนีเซียตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีระยะทางระหว่างเกาะที่อยู่สุดด้านตะวันตกและตะวันออกเทียบเท่าระยะทางจากนครนิวยอร์กถึงลอนดอน นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก มีมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เกือบ 90% ของประชากร 277 ล้านคนของอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิม ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก

ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียยังให้ความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมืองด้วย และในฐานะสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กลุ่มประเทศ G20 และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในกิจการระดับภูมิภาคและระดับโลก เสถียรภาพทางการเมืองของอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

บทบาทของวิโดโดในการเลือกตั้ง

ภาคประชาสังคมบางส่วนเกิดความไม่สบายใจที่ดูเหมือนวิโดโดต้องการรักษาอิทธิพลของเขาเอาไว้แม้เมื่อตัวเองจะวางมือจากตำแหน่งแล้วก็ตาม ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหว นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย โดยพวกเขาอ้างถึงการปฏิบัติที่ผิดจริยธรรม การทุจริตและการเลือกที่รักมักที่ชัง และรวมทั้งคุณภาพชีวิตในประเทศที่แย่ลง

วิโดโดเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการขาดความเป็นกลางของเขา หลังจากที่เขาสนับสนุนนายปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ซึ่งเลือกนายยิบราน รากาบูมิง รากา ลูกชายคนโตของปธน.วิโดโดมาเป็นคู่หู ร่วมชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะอยู่คนละพรรคกัน โดยซูเบียนโตเป็นหัวหน้าพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Great Indonesia Movement Party) หรือในชื่อภาษาท้องถิ่นว่า พรรคเกอรินทรา (Gerindra) ส่วนรากามาจากพรรคพีดีไอ-พี (PDI-P หรือในชื่อเต็มว่า พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้) ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับนายวิโดโด บิดาของเขา

อย่างไรก็ตาม ปธน.วิโดโดเองยืนยันว่าเขาไม่ได้สนับสนุนใคร และพยายามตีตัวออกห่างจากพรรคของตัวเองซึ่งเสนอชื่อนายกันจาร์ ปราโนโว ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ และนายโมฮัมหมัด มาห์ฟุด (รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) รั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ทีมตัวเต็ง : นายพลซูเบียนโต และนายรากา บุตรชายประธานาธิบดีวิโดโด ที่ลงชิงชัยคู่กัน ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ใครคือตัวเต็งตำแหน่งประธานาธิบดี

เมื่อมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสามคนลงสมัคร กฎการเลือกตั้งกำหนดให้ผู้สมัครต้องได้รับคะแนนเสียงระดับชาติอย่างน้อย 50% และคะแนนเสียงอย่างน้อย 20% ในแต่ละจังหวัดเพื่อจะได้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง

โพลสำรวจหลายสถาบันคาดการณ์ว่า ซูเบียนโตและผู้สมัครรองประธานาธิบดีของเขา คือนายรากา ลูกชายวัย 36 ปีของปธน.วิโดโด มีแนวโน้มที่จะชนะในรอบแรก แต่ยังไม่แน่ชัดนัก ว่าพวกเขาจะชนะทันทีเลย แบบได้คะแนนเสียงมากพอตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในวันนี้ หรือต้องไปตัดเชือกกันในการเลือกตั้งรอบสองเดือนมิถุนายน เพราะคะแนนรอบแรกได้ไม่มากพอ

ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งกล่าวว่า ที่ยังไม่แน่ชัดว่าต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองเพื่อเป็นนัดตัดเชือกหรือไม่ เพราะยังมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร และกลุ่มนี้เองที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้งในภาพรวม โดยจากการสำรวจช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของชาวอินโดนีเซียตกอยู่ในหมวดผู้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครนี่เอง

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ต.ค.2567 และจะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีภายในสองสัปดาห์หลังจากนั้น

คาดว่าจะทราบผลสุทธิเมื่อใด

กระบวนการนับคะแนนอย่างเป็นทางการซึ่งใช้เวลานานและยากลำบาก (จากเหตุที่หลายพื้นที่ห่างไกลความเจริญและเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่) อาจใช้เวลานานถึง 35 วันจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นเวลาสูงสุดที่กฎหมายการเลือกตั้งกำหนด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถคาดหวังผลการนับคะแนนล่วงหน้าจำนวนมากจากการประมวลอย่างไม่เป็นทางการของบรรดาสถาบันสำรวจของเอกชนที่ต้องลงทะเบียนไว้กับทางการ กลุ่มองค์กรสำรวจเหล่านี้มีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่หลายพันคนส่งไปเกาะติดการนับคะแนนและทำการสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

ผลลัพธ์ในช่วงแรกซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ "การนับอย่างรวดเร็ว" (quick count) ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ ว่าผลการนับอย่างเป็นทางการจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อการนับผลแล้วเสร็จหลังจากนี้ราวหนึ่งเดือน

จับตาเลือกตั้ง \"ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย\" คนใหม่ สานฝันฮับ EV โลก

สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง

ผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสามคนนำเสนอแนวทางที่แตกต่างกันในการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ในการใช้ทรัพยากรแร่ของประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาค แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นภายในประเทศ หมายถึงการสร้างใหม่หลายตำแหน่ง และจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน สร้างรายได้บรรเทาปัญหาความยากจน แต่สิ่งที่ทุกคนตระหนักเช่นกันก็คือ อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นและการถลุงแร่ธาตุมาใช้เพื่อการนี้ อาจหมายถึงความเสียหายด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็หมายถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในพื้นที่ด้วย

“การลงทุนมุ่งเน้นไปที่ปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ” แอนดรี ซานติโอ นูโกรโฮ จากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐศาสตร์และการเงินในกรุงจาการ์ตากล่าว “นี่เป็นการบ้านของรัฐบาลใหม่ในอนาคตในการสร้างแบบจำลองปลายน้ำด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพ และการลงทุนที่สร้างงานใหม่ให้ประชาชน แต่ยังคงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมกันในระยะยาว”

ภารกิจที่เหล่านี้จะมุ่งไปสู่ผู้นำคนต่อไปของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมรถอีวีจะนำเงินดอลลาร์ที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ  มาใช้เพื่อกระตุ้นการส่งออก รักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ภารกิจสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนให้ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาในปี 2566 อินโดนีเซียดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ราว 1 ใน 4 เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านโลหะที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต กระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซียคาดหวังว่าจะมีการลงทุนมากขึ้นในอุตสาหกรรมปลายน้ำกระจายไปในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการเกษตร ท่ามกลางบริบทที่จะมีการห้ามส่งออกแร่ธาตุมากขึ้นรวมทั้งบอกไซต์ (Bauxite)ที่สามารถนำมาถลุงเป็นอะลูมิเนียมและดีบุก

เหล่านี้คือภารกิจที่ผู้นำคนใหม่และรัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียจะต้องสานต่อหรือหาทางปรับให้เหมาะสมที่สุดเพื่อทำให้ก้าวการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไม่สะดุดขัดในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้นำ    

ข้อมูลอ้างอิง