รองนายกฯ พบพาณิชย์สหรัฐ ชงแลนด์บริดจ์-เสริมแกร่งซัพพลายเชน

13 ก.พ. 2567 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2567 | 10:19 น.

รองนายกฯ “ปานปรีย์” หารือรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐที่กรุงวอชิงตัน เพิ่มความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนห่วงโซ่อุปทานในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเชิญชวนสหรัฐลงทุนด้านเซมิคอนดัคเตอร์และโครงการแลนด์บริดจ์

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับนางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน วานนี้ (12 ก.พ.) ระหว่าง การเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

ระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริม “ความเป็นหุ้นส่วนห่วงโซ่อุปทาน” ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงด้านพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการลงทุนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดยในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เชิญชวนให้นักธุรกิจสหรัฐฯ มาลงทุนในไทยด้วย

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.กระทรวงการต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับนางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งไทยมีบทบาทที่แข็งขันในกรอบดังกล่าว

สำหรับข้อมูลการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนต.ค.2566) สหรัฐฯ และไทยมีมูลค่าการค้าสุทธิทั้งสิ้น 6,411.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,027.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565

สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5,219.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 8.75) โดยสินค้าหลัก 5อันดับแรกที่สหรัฐนำเข้าจากไทย ได้แก่ อุปกรณ์โทรศัพท์, เครื่องประมวลผลข้อมูล, ชิ้นส่วนตัวนำไฟฟ้า, ยางรถยนต์ และหม้อแปลงไฟฟ้า

หารือเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า-การลงทุน

ขณะที่ด้านการส่งออก สหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามายังไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 โดยสินค้าหลัก 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯส่งออกมายังไทย ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม ชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และก๊าซปิโตรเลียม  

รองนายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีฯยังได้พบหารือกับ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันและความสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่า 190 ปี เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน

การหารือครั้งนี้เป็นการสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันภายหลังการเยือนไทยของนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หารือเต็มคณะ

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือตามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ทั้งด้านความมั่นคง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันในระหว่างการประชุม Strategic and Defense Dialogue (2+2) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์นี้ และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในโอกาสนี้ ทั้งไทยและสหรัฐฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคและสถานการณ์ในเมียนมา โดยฝ่ายไทยได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา รวมถึงข้อริเริ่มของไทยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทของไทยในเรื่องนี้และแสดงท่าทีสนับสนุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ สถานการณ์ในอิสราเอล ยูเครน การให้ความช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในกาซาที่ยังมีอยู่ 8 คน และฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสนี้ในการขอรับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570 ด้วย