จีนจัดหนัก ปิด 1.46 หมื่นเว็บ กวาดล้างแก๊งสแกมเมอร์-คอลเซ็นเตอร์ 4 หมื่นราย

05 ก.พ. 2567 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2567 | 16:37 น.

ทางการจีนบุกทลาย-ปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายกว่า 1.46 หมื่นเว็บ เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมผิดกฎหมายทุกรูปแบบ พร้อมร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านจับกุมดำเนินคดีแก๊งสแกมเมอร์-คอลเซ็นเตอร์กว่า 4 หมื่นรายในปีที่ผ่านมา

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างอิงข้อมูล สำนักบริหารการกำกับดูแลไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน ณ สิ้นเดือนม.ค. 2567 ระบุว่า มีการ ปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ทั้งหมด 14,624 เว็บ และแบนบัญชีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 127,878 บัญชี ตามกฎหมายในจีนในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยทางการได้เรียกผู้ประกอบการเว็บไซต์มาพูดคุย 10,646 เว็บ และถูกสั่งระงับการดำเนินงาน-ระงับการอัปเดต 453 เว็บ ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซทุกระดับได้ถอดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ 259 แอป และปิดมินิโปรแกรมจำนวนรวม 119 โปรแกรม

รายงานข่าวระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซทุกระดับของจีนได้ ปราบปรามกิจกรรมผิดกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การแพร่กระจายความรุนแรง การส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จและภาพอนาจาร มุ่งแก้ไขการชี้นำที่ไม่ดีของวิดีโอสั้นและเซลฟ์มีเดีย และปราบปรามการละเมิดสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ประกอบการ ซึ่งบั่นทอนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางไซเบอร์สำหรับผู้เยาว์ กำหนดมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์นักสร้าง (generative AI) รวมถึงสอบสวนและลงโทษแพลตฟอร์มเว็บไซต์และบัญชีผู้ใช้งานบางส่วนที่แพร่กระจายข้อมูลผิดกฎหมาย รบกวนความเป็นระเบียบของไซเบอร์สเปซ และส่งผลกระทบเชิงลบทางสังคม

จีนปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 14,624 เว็บ และแบนบัญชีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 127,878 บัญชี ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระบบกำกับดูแลไซเบอร์สเปซของจีนได้ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสอบสวนและลงโทษบริษัทบางส่วนที่ล้มเหลวในการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายและข้อมูลตามกฎหมายและข้อบังคับ ตลอดจนถอดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือหลายแอปที่จัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดกฎหมาย

ถอนรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์และฉ้อโกงทางออนไลน์

ขณะเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ก.พ.) นายจางเสี่ยวจิน เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการประชาชนสูงสุดของจีน เปิดเผยว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีความทางกฎหมายข้อหาฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 จำนวนทั้งสิ้น 42,000 ราย ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

รายงานระบุว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีความทางกฎหมาย ฐานช่วยเหลือกิจกรรมทางอาชญากรรมเครือข่ายสารสนเทศในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มีมากกว่า 129,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากหน่วยงานอัยการของจีนดำเนินการปราบปรามขบวนการฉ้อฉลเหล่านี้อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หน่วยงานอัยการของจีนพยายามทำลายกลุ่มแก๊ง เครือข่ายและห่วงโซ่อาชญากรรมในลักษณะการล่อลวง-ฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและทางออนไลน์อย่างเต็มกำลัง และมุ่งเน้นกอบกู้ความเสียหายของเหยื่อเคราะห์ร้าย รวมถึงตรวจจับช่องโหว่ด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง

จีนทำลายกลุ่มแก๊ง เครือข่าย และห่วงโซ่อาชญากรรมในลักษณะการล่อลวง-ฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและทางออนไลน์อย่างเต็มกำลัง

 

จับมือเมียนมาจับกุมแกนนำก่ออาชญากรรมกลับจีน  

ปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน รายงานว่า ตำรวจเมียนมาได้ส่งตัวแกนนำแก๊งฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่มีศูนย์ปฏิบัติการในเมืองโกก้าง (ตั้งอยู่ชายแดนจีน-เมียนมา) 6 ราย รวมถึงผู้ต้องสงสัยคดีอาชญากรรมใหญ่อีก 4 ราย แก่ทางการจีน เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 

โดยรายงานระบุว่า ผู้ต้องสงสัยทั้ง 10 รายกลับสู่จีนภายใต้การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ซึ่งลงจอดที่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จสำคัญของความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างตำรวจของจีนและเมียนมา

. เที่ยวบินเช่าเหมาลำ นำผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง-ล่อลวงออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากเมียนมากลับมายังจีน

เจ้าหน้าที่นั่งประกบผู้ต้องหาแบบสองต่อหนึ่ง มาตลอดทาง (แฟ้มภาพซินหัว)

กระทรวงฯ ชี้ว่าความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ของสองประเทศในการร่วมปราบปรามอาชญากรรมการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามชาติ และทำงานร่วมกันเพื่อธำรงรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยตำรวจจีนออกรางวัลนำจับแกนนำแก๊งฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือที่รู้จักกันในนาม “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในภูมิภาคโกก้างทั้ง 10 รายและส่งคณะทำงานสู่เมียนมาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2566

กลุ่มอาชญากรหลายกลุ่มในภูมิภาคโกก้างทางตอนเหนือของเมียนมาได้จัดตั้งแก๊งฉ้อโกงติดอาวุธอย่างเปิดเผยและก่ออาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคมกับพลเมืองจีนมาเนิ่นนาน รวมถึงต้องสงสัยก่ออาชญากรรมร้ายแรงหลายกรณี เช่น การฆาตกรรมโดยเจตนา การทำร้ายร่างกายโดยเจตนา และการกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฎหมาย

การส่งตัวที่ประสบผลสำเร็จเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2567 เกิดขึ้นตามการบรรลุฉันทามติของจีนและเมียนมาหลังจากมีการเจรจาหารือหลายรอบ โดยกระทรวงฯ เสริมว่า ปัจจุบันมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยกระทำการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมจากเมียนมาสู่จีนแล้ว 44,000 ราย ซึ่งเป็นผู้หลบหนีความผิด 2,908 ราย

ตำรวจจีนให้คำมั่นจะเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมฉ้อโกงทางโทรคมนาคมไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือสแกมเมอร์ อย่างเข้มงวดต่อไป และส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การจับกุมแกนนำของแก๊งฉ้อโกงเหล่านี้ไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป