ต้องรู้ ก่อนถูกหลอก ตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์-ล่อลวงทางออนไลน์ในเมียนมา

21 ต.ค. 2566 | 01:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 06:54 น.

จากกรณีข่าวคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตกว่าร้อยคนในเมียนมา กำลังรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงภัยจากแก๊งมิจฉาชีพ ที่ยังคงตั้งหน้าหลอกลวงคนไทยเข้าสู่วงจร “งานสายดำ” ในเมียนมา

วันนี้ เรามาทำความรู้จัก “งานสายดำ” หรือ งานทุจริตผิดกฎหมาย ที่ แก๊งมิจฉาชีพ ล่อลวงคนไทยไปทำใน เมียนมา รวมทั้ง "ข้อควรระวัง" เพื่อการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็น “เหยื่อ” แนะนำโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง Royal Thai Embassy, Yangon ได้ประกาศไว้ว่า “งานสายดำ” ที่กลุ่มมิจฉาชีพนิยมหลอกลวงคนไทยให้มาตกอยู่ในวังวนนั้น เป็นงานผิดกฎหมายที่เมื่อถูกหลอกและบังคับให้ทำแล้ว ยากจะดิ้นหลุดออกมาได้ หรือลำบากต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ เนื่องจากสถานที่ปฏิบัติการของกลุ่มมิจฉาชีพนี้ มักจะตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ หลายคนเมื่อไปถึงแล้ว ก็หาทางกลับไทยไม่ได้ อีกทั้งยังอาจเป็นหนี้สินหลักแสน และอาจติดคุก

“งานสายดำ” ที่ว่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่งานคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ไปจนถึงงานสแกมเมอร์ (Scammer หรือการต้มตุ๋นบนช่องทางออนไลน์) และงานบริการทางเพศ

ความยากลำบากที่ผู้ประสบปัญหาตกเป็น “เหยื่อ” ของมิจฉาชีพ โดยถูกหลอกให้เดินทางไปยังเมียนมาและถูกบังคับทำงานผิดกฎหมายนั้น มีตั้งแต่

  • ถูกกังขังบริเวณไม่ให้ไปไหน โดยมีคนถืออาวุธเฝ้า
  • ถูกยึดหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถติดต่อใครได้
  • ถูกซ้อมปางตาย ถูกทรมาน บางครั้งถูกช็อตไฟฟ้า
  • ถูกเรียกค่าไถ่ในการกลับไทย หรือกล่าวอีกอย่างคือถูกรีดไถค่าเดินทางกลับนับแสน
  • ร้ายกว่านั้นคือ บางคนถูกขายต่อ

แนะวิธีตรวจสอบก่อนตัดสินใจไปทำงานในเมียนมา   

เพื่อไม่ให้คนไทยต้องถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกและบังคับทำงานผิดกฎหมายในเมียนมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จึงได้ประกาศเตือน และให้ข้อแนะนำเอาไว้ ดังนี้

ผู้ใดถูกชักชวนให้มาทำงานด้านบริการ หรือให้มาเป็นแอดมินเพจในเมียนมา โปรดตรวจสอบ ดังนี้

  1. การจ้างงานมีการสัมภาษณ์ มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ สัญญาจ้างจะต้องไม่มีข้อความเอาเปรียบลูกจ้าง
  2. เงินเดือนสูงอย่างไม่น่าเชื่อหรือไม่ โดยหากทำงานแอดมิน เสนอเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป อาจสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นงานสายดำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่เมียนมา วันละประมาณ 100 บาท ทำไมนายจ้างจะจ่ายให้คนต่างชาติ มากมายขนาดนั้น
  3. กระบวนการการทำหนังสือเดินทาง การออกวีซ่า ซื้อตั๋วเครื่องบิน ได้รับการอำนวยความสะดวกให้อย่าง “ดีผิดปกติเกินคาด” และ “รวดเร็วผิดปกติ” หรือไม่

โดยหากขั้นตอนการเตรียมการและการเดินทางมาทำงานง่ายราบรื่นผิดปกติ อาจจะต้องระวังว่าถูกหลอกมาทำงานสายดำ งาน call center และงาน scammer

ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจในบริษัทที่เป็นนายจ้าง หรือต้องการขอคำปรึกษาในการเดินทางมาทำงานในเมียนมา สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ [email protected] หรือติดต่อกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

คำเตือนของสถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมา

“ขอให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรอง และระมัดระวังในการเดินทางมาทำงานในเมียนมา เพราะบางเขต บางเมืองที่ห้ามคนต่างชาติเข้า ท่านอาจถูกดำเนินคดี” คำเตือนของสถานเอกอัครราชทูตระบุ

การให้ความช่วยเหลือมีขั้นตอน และต้องใช้เวลา

เกี่ยวกับกรณีคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตกว่าร้อยคนในเมียนมา รอรับความช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ได้รับรายงานจากนายมงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่า ได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำเมืองเล้าก์ก่าย รัฐฉาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทย ทั้งในส่วนที่หนีออกมาได้และพักในที่ปลอดภัยแล้ว ตลอดจนคนที่อยู่ระหว่างการหลบหนี

นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบจำนวนและรายชื่อของคนไทยที่อาจตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว เป็นขั้นตอนที่กำลังทำอยู่ เพื่อแจ้งทางการเมียนมาให้เข้าไปช่วยเหลืออย่างรีบด่วนต่อไป โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำเมืองเล้าก์ก่ายของเมียนมา พร้อมให้การช่วยเหลือและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สถานทูตย้ำว่า สวัสดิภาพของคนไทยเป็นความสำคัญอันดับต้น แต่กระบวนการต่าง ๆ ต้องใช้เวลาก่อนที่จะได้รับอนุมัติจากทางการเมียนมาให้ส่งตัวคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อกลับประเทศไทยได้ ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมดำเนินการโดยเร็วที่สุด และมีการประสานงานกับกรมการกงสุลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

ช่องทางการติดต่อ-ขอความช่วยเหลือ

  • ทั้งนี้ คนไทยในเมียนมาสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน +95 9880916795 และ +95 9797002801
  • หรือทาง LINE สถานเอกอัครราชทูตฯ https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=395cxuuo
  • นอกจากนี้ ญาติในประเทศไทยยังสามารถติดต่อที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้ตามช่องทางติดต่อดังอินโฟฯข้างล่างนี้

ช่องทางการติดต่อและขอรับความช่วยเหลือ

ขอบคุณภาพจาก กระทรวงการต่างประเทศ /เพจสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง / Radio Free Asia (RFA)