ส่องวาเลนไทน์มะกัน คาดเงินสะพัดกว่า 9 แสนล้าน ชี้ช่องสินค้าไทยแบ่งเค้ก

04 ก.พ. 2567 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 17:14 น.

ทูตพาณิชย์เผย เทศกาลวาเลนไทน์ในสหรัฐคึกคัก คาดปีนี้เงินสะพัดกว่า 9 แสนล้าน ขนม- การ์ดอวยพร- ดอกไม้ นำ 3 อันดับแรกของขวัญยอดนิยม ผลสำรวจคน 40% วางแผนซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ชี้ช่องสินค้าเด่นของไทยมีศักยภาพเจาะตลาด

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เผยว่า จากข้อมูลของ National Retail Federation และ Prosper Insights & Analytics คาดการณ์ว่าปี 2567 ชาวอเมริกันมีแนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 25,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 9.03 แสนล้านบาท คำนวณที่ 35 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งการใช้จ่ายดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมกราคม 2567 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 114.8 จากเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ที่ 108 โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงสนับสนุนจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตและการจ้างงานในตลาดงานในสหรัฐฯ เริ่มมีการขยายตัว

จากข้อมูลการสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกัน จำนวน 8,329 ราย พบว่า ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่ง (53%) วางแผนที่จะเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ในปีนี้ โดย 62% ของกลุ่มสำรวจที่มีอายุตั้งแต่  25-34 ปี วางแผนที่จะเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์มากกว่ากลุ่มคนอายุอื่น ๆ และผู้บริโภคส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้จ่ายเฉลี่ย 185.81 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

นอกจากนี้ กระแสการมอบของขวัญในช่วงวันวาเลนไทน์ในปีนี้ได้มีการขยายมุมกว้างไปยังครอบครัว เพื่อนและญาติพี่น้องเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจข้อมูลของ NRF พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมให้ของขวัญกับคนสำคัญและคู่ครองมากเป็นอันดับหนึ่ง (86%) รองลงมา คือสมาชิกในครอบครัว (56%) สัตว์เลี้ยง (31%) เพื่อน (28%) เพื่อนร่วมชั้นเรียนและครู (24%) เพื่อนร่วมงาน (16%) และอื่น ๆ (12%) ตามลำดับ

โดยของขวัญยอดนิยมของชาวอเมริกัน ได้แก่ ขนม (57%) การ์ดอวยพร (40%) ดอกไม้ (39%) การสังสรรค์ในตอนเย็น (32%) เครื่องประดับ (22%) เสื้อผ้า (21%) และบัตรของขวัญ (19%)

จากข้อมูลการสำรวจของ NRF ระบุว่าการจำหน่ายสินค้าในช่วงวันวาเลนไทน์ของปีที่ผ่านมา พบว่า ครื่องประดับมีมูลค่าสูงที่สุด ประมาณ 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ ดอกไม้ ประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เสื้อผ้า ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและค่าใช้จ่ายในการไปรับประทานอาหารเย็น ประมาณ 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นและปัญหาการขนส่งทางเรือที่เกิดขึ้นทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการสะดุด ส่งผลให้สินค้าบางรายการเกิดการขาดแคลนและมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่โดยรวมแล้วการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ของปีนี้ คาดว่าน่าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งของขวัญแบบดั้งเดิม เช่น เครื่องประดับและอาหาร และของขวัญที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม การเดินทาง การเรียนรู้และอื่น ๆ ก็น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับช่องทางการใช้จ่ายในช่วงวาเลนไทน์ของสหรัฐฯ ที่น่าสนใจในปีนี้ ตลาดออนไลน์หรือ E-Commerce มีความโดดเด่นมาก จากผลการสำรวจพบว่า 40% ของกลุ่มสำรวจวางแผนการซื้อสินค้าทางออนไลน์ รองลงมา คือ ห้างสรรพสินค้าและห้างสรรพสินค้าแบบลดราคา

  • แนวโน้มการจำหน่ายสินค้าวันวาเลนไทน์ทางออนไลน์ที่น่าสนใจในสหรัฐฯ สามารถ สรุปได้ ดังนี้

1.ผู้บริโภคสหรัฐฯ วางแผนที่จะซื้อสินค้าออนไลน์ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 มากขึ้นถึง 14% โดยอาศัยแรงหนุนจากความสะดวกสบาย ความหลากหลายของสินค้าและความได้เปรียบของราคาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

2.อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกทำให้การช้อปปิ้งในช่วงวันวาเลนไทน์สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีการซื้อผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่า 50%

3.ของขวัญที่ชวนสร้างประสบการณ์เพื่อทำให้เกิดความจดจำร่วมกัน เช่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การไปสปา การทำอาหาร การทำของตกแต่งบ้าน การปลูกต้นไม้และอื่น ๆ ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยวหรือการไปชมคอนเสิร์ตก็กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่

4.ของขวัญที่สั่งทำเฉพาะ (personalized) เป็นกระแสที่มาแรงอย่างมากในปีนี้ ทำให้ผู้รับเกิดความรู้สึกพิเศษและรู้สึกว่าของขวัญนั้นมีค่าอย่างแท้จริง เพราะ ผู้มอบให้ได้แสดงความพยายามเป็นพิเศษในการคัดสรร

5.การสมัครสมาชิกกล่องของขวัญในช่วงเดือนวานเลนไทน์ ผู้รับจะได้ของขวัญที่คัดสรรมาอย่างดีและมีความแปลกใหม่ โดยสินค้าที่นิยมนำมาใส่ในกล่องของขวัญ เช่น ของทานเล่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและของตกแต่งบ้าน ซึ่งวิธีการดังกล่างเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายและช่วยสร้างประสบการณ์สนุกสนานตื่นเต้นให้กับผู้รับ

6.สินค้ายั่งยืนเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ Gen Z ที่ให้ความสำคัญในการซื้อสินค้าจากแหล่งที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม เช่น ช็อคโกแลต fair Trade ที่มาจากชุมชน, การ์ดหรือกล่องที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล, ของขวัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยสนับสนุนชุมชนและงานฝีมือท้องถิ่น

7.การจัดส่งที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือช่วยดึงดูดผู้ซื้อออนไลน์ได้เป็นอย่างดี การรับประกันการจัดส่งภายในวัน วาเลนไทน์หรือการติดตามพัสดุที่แม่นยำหรือแบบเวลาจริงช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบการจัดส่งและหลีกเลี่ยงความกังวลในนาทีสุดท้าย นอกจากนี้ โปรโมชั่นการจัดส่งสินค้าฟรียังเป็นสิ่งดึงดูดใจและกระตุ้นการจำหน่ายที่ดีให้กับลูกค้า

8.แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram และ Pinterest มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อการซื้อของชาวอเมริกันในช่วงวาเลนไทน์ รูปภาพผลิตภัณฑ์ที่สะดุดตา คำแนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์และเนื้อหาของสินค้า เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการเชิญผู้ซื้อให้เข้ามาชมร้านค้าออนไลน์

  • โอกาสของสินค้าไทยในการขยายตลาดในช่วงวาเลนไทน์และเทศกาลสำคัญอื่น ๆ

1.ผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังมองหาของขวัญที่ไม่ซ้ำใครและมีความเฉพาะโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สินค้าไทยในกลุ่มงานฝีมือหรือสินค้าในกลุ่มสปาที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติบรรจุในผลิตภัณฑ์สวยงามมีการออกแบบอย่างโดดเด่นน่าจะมีโอกาสในการขยายตลาดในกลุ่มนี้ โดยอาศัยช่องทางออนไลน์

2.ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ จะช่วยสร้างโอกาสให้แบรนด์ไทยที่จำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการพัฒนาชุมชมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

3.กลุ่มสินค้าไทยที่น่าจะมีโอกาสในการขยายตัวในการจำหน่ายทางออนไลน์ในช่วงเทศกาล เช่น เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์ความงาม อาหาร สินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์และธุรกิจบริการ

โดยรวมแล้วตลาดออนไลน์ในสหรัฐฯ เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับแบรนด์ไทยในการเจาะฐานลูกค้าในสหรัฐฯ ในช่วงเทศกาล ทั้งนี้ การทำความเข้าใจแนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภค และการใช้ประโยชน์จาก E-Commerce เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพสูงน่าจะช่วยส่งเสริมทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและนิยมในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น