ไทย-ศรีลังกา จัด Business Networking เอกชน 140 รายร่วมประเดิมใช้ประโยชน์ FTA

04 ก.พ. 2567 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 16:20 น.

ภายหลังการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและศรีลังกาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนของทั้งสองฝ่ายซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 140 รายได้เข้าร่วมงาน Sri Lanka - Thailand Business Networking จับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการค้า-การลงทุน นับเป็นกิจกรรมแรกหลังมี FTA ร่วมกัน

 

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมงาน Sri Lanka - Thailand Business Networking ซึ่งจัดขึ้นวานนี้ (3 ก.พ.) ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมพาณิชย์ศรีลังกา และหอการค้าศรีลังกา โดยนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังกาได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์

งานดังกล่าวนับเป็นกิจกรรมแรก ที่ไทยและศรีลังกาจัดร่วมกันภายหลังการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยมีนักธุรกิจจากทั้งไทยและศรีลังกาเข้าร่วมกว่า 140 ราย

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ซ้าย) และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถ้อยแถลงในงาน Sri Lanka – Thailand Business Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการลงนาม FTA นี้ว่า ทั้งสองฝ่ายควรตีเหล็กขณะยังร้อน ด้วยการเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ศรีลังกา อย่างเต็มที่

​นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นในการเดินหน้าประเทศของศรีลังกา และมั่นใจว่าการที่บริษัทชั้นนำของไทยกว่า 20 รายร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ และการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา สะท้อนถึงความรู้สึกเชื่อมั่นในศักยภาพระหว่างกันและกัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีฯ และนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงาน

 

เสริมแกร่งการค้า-อุตสาหกรรมการผลิต-ธุรกิจภาคบริการ

การค้า ระหว่างไทยและศรีลังกาในปีที่ผ่านมา เติบโตในอัตรา 16%  เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้น 7.4% และส่งออกจากศรีลังกาเพิ่มขึ้น 43%

ส่วนใน อุตสาหกรรมภาคการผลิต ที่การแปรรูปอาหารทะเลของศรีลังกามีความโดดเด่น เชื่อว่าศักยภาพความร่วมมือระหว่างบริษัทจากทั้งสองประเทศ จะสามารถเดินหน้าอุตสาหกรรมนี้สู่ตลาดทั่วโลกได้ ในขณะที่ สินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ของไทยเองก็สามารถมีส่วนสนับสนุน อุตสาหกรรมภาคบริการ ที่กำลังเติบโตของศรีลังกา ที่รวมไปถึงการพัฒนาทักษะ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและการโรงแรมระหว่างกัน และในด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน โดยเฉพาะที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนนั้น มีบริษัทไทยจำนวนมากดำเนินธุรกิจในศรีลังกา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต และพลังงาน ซึ่ง นายกฯ สนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ ของไทย ใช้ประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตของศรีลังกา และความได้เปรียบทางภาษีในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการเชื่อมโยงทางทะเล ซึ่งศรีลังกาสามารถเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ของไทยที่จะเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

และด้วยสุภาษิตที่ว่า “จงตีเหล็กขณะยังร้อน” นายกฯ พร้อมสนับสนุนธุรกิจจากทั้งสองฝ่ายให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก FTA ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 3 ก.พ. และอวยพรให้งาน Sri Lanka - Thailand Business Networking ประสบความสำเร็จด้วยดี