ประธานาธิบดีเยอรมนีเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 10 ปี

06 ม.ค. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2567 | 08:21 น.
557

ประธานาธิบดีเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 10 ครั้งแรกของผู้นำรัฐจากต่างประเทศของรัฐบาลเศรษฐา ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 ลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือระบบราง-วิทยาศาสตร์

วันนี้ (6 มกราคม 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ภริยา และคณะ ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานวโรกาสให้ประธานาธิบดีฯ พร้อมด้วยภริยา เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

นายชัยกล่าวว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีฯ จะเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนี 2 ฉบับในด้านระบบรางและวิทยาศาสตร์ และจะมีการแถลงข่าวร่วม โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีฯ และภริยาพร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมัน ณ ทำเนียบรัฐบาล

นายชัยกล่าวว่า การเยือนประเทศไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสของฝ่ายไทยและเยอรมนีในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรทั้งในด้านการเมือง การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย รวมทั้งต่อยอดความร่วมมือในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนเป็นโอกาสกระชับความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ของโลกทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค เพื่อสานต่อไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)

นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อผลักดันผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน พลังงาน ความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอาชีวะ และความมั่นคง โดยเชื่อมั่นว่า การเยือนครั้งสำคัญนี้จะต่อยอด ส่งเสริมความร่วมมือไทย-เยอรมนีในทุกมิติ และส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในเวทีระหว่างประเทศ

นายชัยกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกนับตั้งแต่ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อปี 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งเคยมีการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อปี 2545 (นายโยฮันเนส เรา (Johannes Rau)) และถือเป็นครั้งสำคัญเพราะเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำรัฐจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน