“เศรษฐา”ขับเคลื่อน 5ประเด็นเวทีผู้นำเอเปค พร้อมพบบิ๊กนักลงทุน CEO Summit  

08 พ.ย. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 23:01 น.

“เศรษฐา” เตรียมขึ้นเวทีเอเปคครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย 12-17 พ.ย.นี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ผลักดัน 5 ประเด็นหลัก ย้ำการค้า-การลงทุนบนแนวคิดเศรษฐกิจยั่งยืน เสริมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ด้านเวทีเอกชนพร้อมชูจุดแข็งไทย ดึงดูด 1,200 ผู้บริหารระดับโลกใน CEO Summit

 

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวบรรยายสรุปแก่สื่อมวลชนวันนี้ (8 พ.ย.) ในประเด็นการเข้าร่วม การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำ (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะผู้แทนไทย ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของนายกรัฐมนตรี จะเป็นการสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) และสะท้อนบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในภาพรวม ซึ่งจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นที่นานาชาติมีต่อไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับความท้าทายและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับ ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ มี 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การค้าการลงทุน (Trade & Investment) จะย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง ผลักดันงานเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และนำเสนอนโยบายเชิงรุกของไทยในการจัดทำและยกระดับ FTAs ต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการทำ FTA ทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคี
  2. ความเชื่อมโยง (Connectivity) ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยนายกฯจะนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในบริบทของเอเปค และการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยเฉพาะผ่านการเดินทางและการท่องเที่ยว
  3. ความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันการสานต่อ “เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy หรือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG Economy) ซึ่งได้รับฉันทามติรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี2565 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และความเป็นกลางทางคาร์บอน นำเสนอนโยบาย ZEV การเงินสีเขียว และพลังงานสะอาดของไทย
  4. เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ส่งเสริมการค้าดิจิทัล/ อี-คอมเมิร์ซ และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น AI (ปัญญาประดิษฐ์) โดยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงลบ
  5. ความครอบคลุมและความเท่าเทียม (Inclusivity) เน้นการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ นำเสนอนโยบายของไทยที่สนับสนุนกลุ่มเปราะบาง พัฒนาการศึกษา และยกระดับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมให้สตรี ธุรกิจ SMEs และเยาวชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มากขึ้น  

นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ (2566)

ไทม์ไลน์กิจกรรมของนายกรัฐมนตรี

ในปี 2566 นี้ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้ว 7 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี ส่วนในช่วง สัปดาห์การประชุมผู้นำ หรือ APEC Economic Leaders’ Week (AELW) นั้น จะมีการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้า) จากนั้นจึงเป็นการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งมีไทม์ไลน์ ดังนี้

13 พ.ย.2566

  • การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค (ซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะเข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐมนตรีคลัง)

14-15 พ.ย. 2566

  • การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปค (ซึ่งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.กระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมประชุม)

15 พ.ย.2566

  • งาน APEC CEO Summit เป็นการประชุมคู่ขนานของภาคเอกชนเอเปค บนเวทีนี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะขึ้นกล่าวปาฐกถาเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำรัฐบาลไทยต่อภาคเอกชนของเอเปค ซึ่งจะมีบุคคลระดับผู้บริหาร-ซีอีโอขององค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกเข้าฟัง 1,200 คน เป็นโอกาสที่จะนำเสนอนโยบายเชิงรุกของไทยทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงินสีเขียว โครงการแลนด์บริดจ์ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และพลังงานสะอาด
  • ช่วงค่ำวันที่ 15 พ.ย. ยังจะมีวาระพิเศษสำหรับคณะของประเทศไทยโดยเฉพาะ เป็น Exclusive Dinner ซึ่งประธานบริษัท Genstar Capital ซึ่งเป็นบริษัทวาณิชธนกิจรายใหญ่ในซานฟรานซิสโก เป็นเจ้าภาพร่วมจัด (co-host) กับประธานบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP) นอกจากนี้ ยังมีซีอีโอบริษัทใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย

สำหรับการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากงานดินเนอร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น อธิบดีเชิดชายกล่าวว่า ณ ขณะนี้กล่าวได้เพียงว่า มีบริษัทเอกชนจำนวนมากและแทบจะทุกสาขาเทคโนโลยีที่จะได้พบ แต่ยังไม่สามารถกล่าวระบุชื่อบริษัทหรือชื่อองค์กรอย่างเจาะจงในเวลานี้  ขณะที่ไทยเองก็มีคณะนักนักธุรกิจร่วมเดินทางไป ซึ่งการพบกันระหว่างภาคธุรกิจเอกชนไทย-สหรัฐนั้น จะมีในหลายรูปแบบ เช่น การเจรจา Round Table การโร้ดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ และการพูดคุยแบบทวิภาคี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ทางกต.จะสรุปผลการหารือให้ฟังแบบวันต่อวัน

17 พ.ย.2566

  • การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค คาดว่าผู้นำส่วนใหญ่จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคจะสามารถเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก ครอบคลุม 38% ของประชากรโลก ขนาดเศรษฐกิจของเอเปคเท่ากับ 62% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าเท่ากับ 48% ของมูลค่าการค้าโลก วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และต่อมาได้ขยายไปยังมิติความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนา เป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคสำคัญที่ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกับสมาชิกที่มีระดับเศรษฐกิจที่ต่างกัน