"ปานปรีย์" เยือนเวียดนามผลักดัน Three Connects ขับเคลื่อนการค้า 9 แสนล้าน

27 ต.ค. 2566 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2566 | 14:56 น.

"ปานปรีย์" จับมือเวียดนามฉลอง 10 ปีการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไทย – เวียดนาม เห็นพ้องกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคง พร้อมขับเคลื่อนแนวคิด Three Connects ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนฯดันการค้าสองฝ่ายแตะ 9 แสนล้านในปี 68 

 
จากการเดินทาง เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อย่างเป็นทางการ ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2566 ตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไทย – เวียดนาม ในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านต่างๆกันอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุน และความมั่นคง รวมทั้งการขับเคลื่อน แนวคิด “Three Connects” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองฝ่าย


พบนายกฯเวียดนาม ย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน 

วันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา นายปานปรีย์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และพบหารือกับนายเล หว่าย จุง ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รวมทั้งนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเห็นว่า ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนามมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ไทยและเวียดนามจำเป็นต้องร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ระหว่างประเทศมีความเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็ว

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม (25 ต.ค.2566)

ในส่วนของการหารือแนวทางกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามนั้น ครอบคลุมถึงการยกระดับความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามในฐานะ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) เพื่อสะท้อนความสำคัญลำดับต้นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้กับความสัมพันธ์ในการหารือวาระต่าง ๆ ดังนี้  

  • ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้แลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในปี 2567 
  • นอกจากนั้น นายปานปรีย์ยังได้เชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เยือนประเทศไทยด้วย
  • ใน ด้านความมั่นคง ไทยและเวียดนาม สนับสนุนให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของสองประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่แล้วในการจัดการปัญหาด้านความมั่นคงต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์
  • ใน ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ดังนี้ 

\"ปานปรีย์\" เยือนเวียดนามผลักดัน Three Connects ขับเคลื่อนการค้า 9 แสนล้าน
(1) ในส่วนของการค้า ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อมูลค่าการค้าทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา(2565) และจะเดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.05 แสนล้านบาท ในปี 2568
(2) ในด้านการลงทุน ฝ่ายเวียดนามขอบคุณนักลงทุนจากไทยที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาของเวียดนาม และยืนยันจะให้การสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 9 ในเวียดนาม นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายเวียดนามให้ลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
(3) ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและการเชื่อมโยงการเดินทางทางบกระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนาเส้นทางเดินเรือชายฝั่งไทย-กัมพูชา-เวียดนาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการจัดการประชุมและนิทรรศการ (MICE) ระหว่างสองประเทศ

ผลักดันแนวคิด Three Connects ให้เป็นรูปธรรม

ในระยะต่อไป ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการนำแนวคิด “Three Connects” ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในระหว่างการเดินทางเยือนไทยของอดีตประธานาธิบดีเวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม ดังนี้
(1) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Connecting Supply Chains) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่อยอดความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่างระบบเศรษฐกิจของไทยและเวียดนาม และแสวงหาแนวทางการเชื่อมโยงและขยายห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศ
(2) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น (Connecting Local Economies) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับจังหวัดในภาคกลางและใต้ของเวียดนาม รวมทั้งจะส่งเสริมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นของสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม
(3) การเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Connecting Sustainable Growth Strategies) สองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว มากยิ่งขึ้น

ในด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน ฝ่ายไทยจะสานต่อโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในเวียดนาม และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนามในมหาวิทยาลัยของแต่ละฝ่าย เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างเยาวชนสองประเทศ นอกจากนั้น จะสนับสนุนความร่วมมือในอุตสาหกรรมบันเทิง ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายและการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสองฝ่าย

งานเปิดตัวการกลับมาให้บริการของสายการบินไทย เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย และกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. เป็นต้นไป ทั้งสองฝ่ายย้ำการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ในประเด็นระดับภูมิภาค ทั้งไทยและเวียดนาม ได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ในระดับภูมิภาคที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและมีความห่วงกังวลร่วมกัน โดยไทยและเวียดนามจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพของอาเซียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค

นอกจากนี้ ระหว่างการเยือนเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือกับทีมประเทศไทยประจำกรุงฮานอย ผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม รวมถึงได้เข้าร่วมงานเปิดตัวการกลับมาให้บริการของสายการบินไทยในเส้นทางบินระหว่างไทยกับเวียดนามด้วย