“ปานปรีย์” ประกาศดันการทูตเชิงเศรษฐกิจ หัวหอกดึงนักลงทุนทั่วโลก

04 ต.ค. 2566 | 17:39 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 18:20 น.

รองนายกฯ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ประกาศ รัฐบาลจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ เป็นหัวหอกของการทูตยุคใหม่ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เตรียมถกทูตไทยทั่วโลกปลายปี รับนโยบายเซลล์แมนรัฐบาล

วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า รัฐบาลจะใช้ “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับแนวทางการทูตเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จะเน้นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างมูลค่าในความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานทดแทน ดิจิทัล เกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างงานใหม่ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอิทธิพลด้านการเมือง เศรษฐกิจของภูมิภาค

โดยมีประเทศเป้าหมายสำคัญ ประกอบไปด้วย จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมทั้งเพิ่มปฏิสัมพันธ์และเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ตุรกี เช่นเดียวกับการสร้างสภาพความแวดล้อมกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนกับต่างประเทศทั้งด้านการผลิต บริการ และการวิจัยและพัฒนา

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับการทูตเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม เริ่มจากไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สอดคล้องกับค่านิยมสากล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษชนขั้นพื้นฐาน และแสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

พร้อมกันนี้ไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเป็นหัวหอกของการทูตยุคใหม่ โดยหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการ และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งทางบีโอไอ มีนโยบายให้วีซ่าระยะยาวไปแล้ว และให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เกี่ยวข้องกับทะเล และ การกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์กับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจและการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว ไทยจะเร่งการเจรจาสำคัญ เช่น FTA ไทย-อียู และ ขยายพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือทุกระดับ ทั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) , ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) และ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS)

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายปานปรีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องผนึกกำลังกับประเทศในภูมิภาคเอเซีย เพราะปัจจุบันเราอยู่ในศตวรรษแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของด้านแรงงานที่มีศักยภาพ เริ่มมีบทบาทของนักลงทุนที่กำลังออกไปลงทุนในต่างประเทศ และกำลังจะก้าวเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของโลกในอนาคต

“ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้เอเชียมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เวทีในการเผชิญหน้า แต่เป็นภูมิภาคแห่งความร่วมมือ ความสงบ และที่สำคัญไทยจะสนับสนุนให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง มีเอกภาพ เป็นแกนกลางของความร่วมมือในภูมิภาค” นายปานปรีย์ ระบุ

รองนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานในต่างประเทศ 97 แห่ง ทำงานร่วมกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ภายใต้กลไกทีมประเทศไทย โดยในปลายปี 2566 นี้ จะเชิญทูตไทยทั่วโลกมาประชุมระดมสมอง เพื่อวางแผนและแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศต่อไป โดยนโยบายด้านการต่างประเทศจะต้องตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้วย

ส่วนแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศด้วยนั้น รองนายกฯ ยอมรับว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะไปจัดลำดับความสำคัญของประเทศ หรือภูมิภาคต่าง ๆ ว่าจะมีแนวทางในการส่งเสริมอย่างไร เพราะแต่ละประเทศก็มีความต้องการในด้านการลงทุนแตกต่างกัน

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ