กต.เผยคนไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 รายในอิสราเอล

10 ต.ค. 2566 | 09:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 09:54 น.

รมช.ต่างประเทศ“จักรพงษ์” เผยตัวเลขไม่เป็นทางการ คนไทยเสียชีวิตจากสถานการณ์ในอิสราเอลเพิ่มเป็น 18 ราย ขอกลับไทยเพิ่มเป็น 3,000 คน แจ้งข่าวดีมีไฟลท์บินเพิ่ม 19 ต.ค.นี้ หากไม่พอจะประสานเหมาลำพาณิชย์ทั้งในและนอกประเทศ

 

10 ต.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอล ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด ว่าขณะนี้ มีคนไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับ ประมาณ 3,000 คน และได้มีการรายงานข่าวดีเกี่ยวกับ การอพยพคนไทย ได้จำนวนมากขึ้น และในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือในเเต่ละวัน โดยในขณะนี้ มี แรงงานไทยในอิสราเอล ประมาณ 30,000 คน อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง 5,000 คน และได้ทยอยอพยพออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว

ในส่วนการรายงาน จำนวนผู้เสียชีวิต เพิ่มเติมนั้น นายจักรพงษ์ ระบุว่าทางอิสราเอลยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ได้ จึงยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากการรายงานของนายจ้างอย่างไม่เป็นทางการพบว่าขณะนี้มีผู้เสียชีวิตชาวไทยเพิ่มเป็น 18 คนแล้ว ส่วนการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันนั้น ยังมีการเจรจาต่อเนื่อง พร้อมมีการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศที่พลเมืองถูกจับเป็นตัวประกันเช่นกัน

คนไทยกลับบ้านชุดแรก 12 ต.ค.

สำหรับการอพยพคนไทยออกจากประเทศอิสราเอล จะทำทุกวิถีทาง ทั้งการใช้เครื่องบินเหมาลำและเครื่องบินของกองทัพ เพื่อนำคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จะเป็นเที่ยวบินแรก และวันที่ 19 ตุลาคม จะมีอีกหนึ่งเที่ยวบิน และระหว่างนั้นก็จะพยายามทำเพิ่มเติม ทั้งการประสานหาเครื่องบินพาณิชย์ของไทย และเครื่องบินทหาร

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศอิสราเอล ที่พยายามติดต่อหาทุกช่องทาง เครื่องบินของไทยได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในเขตประเทศอิสราเอล ไม่ใช่เขตประเทศเพื่อนบ้าน ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ทุกอย่างน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าจะมีผู้แจ้งความประสงค์กลับมาจำนวนมากน้อยเพียงใด และจะกลับมาได้ในช่วงเวลาใด โดยความรุนแรงขณะนี้มีการขยายวงกว้าง เข้ามาใกล้กับสนามบินมากขึ้น จึงมีความเป็นห่วง และเมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) ได้มีการเจรจากับประเทศรอบๆ เพราะถ้าหากมีความจำเป็น ก็ต้องส่งเครื่องบินเข้าไป แต่ยอมรับว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด มีคนไทยในอิสราเอลแจ้งความประสงค์กลับประเทศ 3,000 คน ส่วนที่ต้องการจะอยู่ต่อมีประมาณ  100 คน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีทั้งแรงงานที่เดินทางไปอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

กต.เผยคนไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 รายในอิสราเอล

เมื่อถามว่าได้มีการประสานช่วยเหลือแรงงานที่ถูกนายจ้างนำไปขายต่อหรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่าได้รับทราบรายงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากอิสราเอล

ส่วนที่ประชาชนมีความกังวลและพยายามที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินพาณิชย์กลับเองโดยไม่รอเครื่องรัฐบาลไปรับ จะมีการดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า ทางเอกอัครราชทูตพยายามดูทุกไฟลท์บินคิดว่าน่าจะครอบคลุมทั้งหมด และจะมีการดูแลค่าใช้จ่ายเป็นกรณีไป

สถานทูตไทยในอิสราเอลแนะวิธีปฏิบัติกรณีถูกโจมตี

วันนี้เช่นกัน ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอล ได้เผยแพร่วิธีปฏิบัติเมื่อมีเหตุจรวดโจมตีจากทางเหนือของอิสราเอล หลังกลุ่มฮามาสได้เริ่มรุกคืบโจมตีจากทางภาคใต้ไปยังภาคเหนือของประเทศ โดยเฟซบุ๊กของสถานทูตฯ ระบุว่า "ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์การโจมตีจากทางภาคเหนือของอิสราเอลนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแนะนำแนวทางปฏิบัติตน ดังนี้

  1. ดาวน์โหลดแอป Pikud Haoref ของกองทัพในโทรศัพท์มือถือ เปิดโลเคชั่น เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ
  2. เตรียมหาที่หลบภัยใกล้บ้าน ทดลองจับเวลาจากบ้านไปยังที่หลบภัย
  3. เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้น ให้รีบไปยังที่หลบภัยทันที และรอจนเสียงไซเรนหยุดลงจึงออกจากที่หลบภัย
  4. หากเสียงไซเรนดังขณะที่อยู่นอกบ้าน ให้รีบไปยังบ้านใกล้เคียงเพื่อขอเข้าที่หลบภัย หรือหลบใกล้กำแพง หรือนอนราบบนพื้นโดยใช้มือป้องกันศีรษะ
  5. หากอยู่ในอาคาร ให้ทำตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่
  6. หากอยู่ในรถ ให้หยุดรถและออกจากรถทันทีเพื่อไปยังที่หลบภัยที่ใกล้ที่สุด หรือหมอบราบบนพื้นหญ้าข้างทาง (อย่าหมอบราบบนถนน)
  7. หากเสียงไซเรนดังขณะอยู่บ้าน ให้เข้าห้องหลบภัยโดยด่วน หรือหากไม่มีให้ไปขอใช้ห้องหลบภัยของเพื่อนบ้าน หรือหลบหลังบันได หากอยู่ชั้นสูงในอาคารที่พัก ให้ลงมาชั้นที่ต่ำกว่า
  8. ในห้องหลบภัยควรเตรียมน้ำ ยา ที่ชาร์จโทรศัพท์ ฟูก และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ให้พร้อม และเมื่อเสียงไซเรนดังขึ้น ให้รีบเข้าห้องหลบภัยโดยนำโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย ปิดหน้าต่างเหล็กห้องนิรภัย และล็อกประตูให้เรียบร้อย

          "ด้วยความห่วงใย จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ"