ระบบอัจฉริยะ Iron Dome ของอิสราเอลที่สกัดกั้นจรวดของฮามาส

10 ต.ค. 2566 | 09:00 น.
1.6 k

รู้จักการทำงานของ "Iron Dome" ของอิสราเอลที่ใช้สกัดกั้นจรวดของกลุ่มฮามาสหลังการโจมตีครั้งล่าสุดกับเคล็ดลับความแม่นยำกว่า 90%

ท่ามกลางการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสกึ่งทหารปาเลสไตน์ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023  กลุ่มฮามาสอ้างว่ายิงจรวด 5,000 ลูกอจากฉนวนกาซาเข้าสู่อิสราเอล ทั้งยังแทรกซึมเข้าไปในเมืองต่างๆ ใกล้ฉนวนกาซาผ่านทางบก อากาศ และทางทะเล  

จรวดจำนวนมากที่มุ่งเป้าไปที่อิสราเอล แต่ถูกสกัดกั้นผ่านระบบป้องกันจรวดของกองทัพอิสราเอล ระบบอัจฉริยะ Iron Dome หรือ โดมเหล็ก

กำเนิดระบบอัจฉริยะ Iron Dome

Iron Dome ถือว่าเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลกในเวลานี้ การพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลเกิดขึ้นหลังช่วง สงครามเลบานอน การสู้รบกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กินเวลายาวนาน 34 วัน ในช่วงปี 2006 อิสราเอลโดนยิงจรวดถล่มหลายพันลูก เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล

ระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดย "ราฟาเอล แอดวานซ์ ซิสเต็มส์" ร่วมกับบริษัท "อิสราเอล แอโรสเปซ อิสดัสทรี้ส์" โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ บางส่วน เพื่อตอบโต้จรวดที่ยิงโดยกลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์จากเลบานอนในช่วงสงครามปี 2006 และกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ โดยได้นำมาติดตั้งแต่ใช้งานจริงในปี 2011

เว็บไซต์ army-technology ระบุว่า ระบบได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโต้จรวดพิสัยใกล้มากและภัยคุกคามจากกระสุนปืนใหญ่ 155 มม. ในรัศมี 70 กม. สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ ทั้งหมอก พายุฝุ่น เมฆต่ำ และฝน

ช่วยปกป้องประชากรและทรัพย์สินที่สำคัญ และสามารถวางเชิงกลยุทธ์เพื่อลดความเสียหาย ตรวจจับ วิเคราะห์ และสกัดกั้นภัยคุกคามต่างๆ ที่เข้ามา รวมถึง C-RAM, ขีปนาวุธนำวิถีที่แม่นยำ ขีปนาวุธร่อน ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ และภัยคุกคามจากการหายใจทางอากาศ

ระบบสามารถสกัดกั้นเป้าหมายที่เข้ามาได้มากกว่า 2,500 เป้าหมาย ด้วยอัตราความสำเร็จมากกว่า 90% ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ระบบไอรอนโดมของอิสราเอลเป็นระบบป้องกันทางอากาศระยะสั้นซึ่งทราบกันว่ามีอัตราความสำเร็จในการสกัดกั้นจรวดถึง 96 % และตามรายงานของ Associated Press ระบบไอรอนโดมสามารถสกัดกั้นจรวดที่ยิงโดยกลุ่มฮามาสได้ 90% ในการโจมตีครั้งล่าสุด ซึ่งทั้งหมดมีอัตราการสกัดกั้นใกล้เคียงกัน

การทำงานของ ระบบอัจฉริยะ Iron Dome

Iron Dome ใช้งานได้ทุกเวลา ทุกสภาพอากาศ โดยระบบเรดาร์จะทำการตรวจจับติดตาม จากนั้นระบบควบคุมและอำนวยการรบอัจฉริยะ (Battle Management and Weapons Control-BMC) มีหน้าที่คำนวณข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาร์ ตัดสินใจสั่งยิง ควบคุมสถานการณ์ รวมถึงติดต่อสื่อการกับกองบัญชาการ โดยระบบสามารถตั้งแบบอัตโนมัติที่จะสั่งยิงเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมได้

เรดาร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยตรวจจับและติดตามเป้าหมายหรือ Detection and Tracking Radar Unit โดยใช้เรดาร์ AESA แบบ 3D รุ่น EL/M-2084 รุ่น Mini MMR ขนาดเล็กของบริษัท ELTA ประเทศอิสราเอล

ส่วนยิงหรือ Missile Firing Unit ซึ่งเป็นแท่นยิงจรวดจำนวน 3 – 6 แท่น แต่ละท่านบรรจุจรวด Tamir จำนวน 20 นัด และมีจรวดสำรองอีก 20 นัด โดยจรวด Tamir นำวิถีด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency) เพื่อพาตัวเองไปยังเป้าหมาย จะมีเซนเซอร์ Electro-Optic และตัวยิงเลเซอร์เพื่อนำตนเองเข้าสู่เป้าหมายและคำนวณเวลาจุดระเบิดในช่วงสุดท้ายของการยิง ตัวจรวดสามารถยิงได้ไกล 40 กิโลเมตร

ขั้นตอนทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติและใช้เวลาไม่กี่วินาทีนับจากตรวจจับเป้าจนถึงเป้าหมายถูกทำลาย ด้วยประสิทธิภาพของระบบตรวจจับ Algorithm และระบบประมวลผลขั้นสูงที่ทำการตัดสินใจหลายพันล้านครั้งในหนึ่งวินาที

ประสิทธิภาพกับราคาแสนแพง

Iron Dome 1 ระบบ มีราคาขั้นต่ำ 50 ล้านเหรียญถึง 100 ล้านเหรียญ หมายถึงการจัดหา 1 กองพันต้องใช้เงินมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทขึ้นไป และจรวด Tamir มีราคาราวนัดละ 1.3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับจรวด Qassam ที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ต้นทุนที่อิสราเอลต้องจ่ายเพื่อป้องกันตนเองด้วยการยิง Iron Dome กว่า 52 ล้านบาท

ที่มาข้อมูล