อิสราเอลเผย “ฮามาส” จับหลายชีวิตเป็นตัวประกัน-เชลยสงคราม

08 ต.ค. 2566 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2566 | 09:13 น.

เหตุการณ์ล่าสุดในอิสราเอล “เนทันยาฮู” ประกาศ “ภาวะสงคราม” หลังกลุ่มฮามาสระดมโจมตีครั้งใหญ่อย่างไม่ทันตั้งตัวตั้งแต่เช้าวันเสาร์ (7 ต.ค.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วนับร้อย พบหลักฐานระบุกลุ่มฮามาสจับตัวทหารและประชาชนอิสราเอลไม่ทราบจำนวนนำตัวไปเป็นเชลยในเขตกาซา

 

สำนักข่าว CNN รายงาน สถานการณ์สู้รบในอิสราเอล ซึ่งนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศเป็น "ภาวะสงคราม" แล้ว หลัง กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็น กลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์ ได้เปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีเมื่อเช้าวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยหน่วยงานของทางการอิสราเอลระบุ กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้จับกุมชาวอิสราเอลหลายคนเป็นตัวประกัน พร้อมกันนี้ยังได้แสดงภาพวิดีโอที่เผยให้เห็น ทหารและพลเรือนถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวไปเป็นเชลยสงครามและตัวประกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของหน่วยงานกู้ภัยฉุกเฉินของอิสราเอล (Zaka) พบว่าเหตุการณ์โจมตีแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวของกลุ่มฮามาสครั้งนี้ ทำให้ มีผู้เสียชีวิตในฝั่งอิสราเอลอย่างน้อย 200 ราย ด้านกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลรายงานยอดผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,452 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์รายงาน มีผู้เสียชีวิตในเขตฉนวนกาซาอย่างน้อย 232 ราย และบาดเจ็บ 1,697 ราย

การโจมตีครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตในฝั่งอิสราเอลอย่างน้อย 200 ราย และในเขตฉนวนกาซาอย่างน้อย 232 ราย

การโจมตีอิสราเอลทางอากาศจากกองกำลังกลุ่มฮามาสเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.)

จากภาพวิดีโอที่ตรวจสอบความถูกต้องได้โดย CNN พบว่า มีทหารอิสราเอลอย่างน้อย 1 นายที่ถูกจับตัวไปเป็นนักโทษ นอกจากนี้ คลิปซึ่งถูกโพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของกลุ่มฮามาส ยังเผยให้เห็นทหารฮามาสกระชากตัวทหารอิสราเอล 2 นายออกมาจากรถถังที่ถูกทำลาย ยังไม่แน่ชัดว่ารถถังของอิสราเอลถูกทำลายอย่างไร แต่ที่ผ่านมา กลุ่มฮามาสเคยใช้โดรนทิ้งระเบิดใส่รถถังของอิสราเอลมาก่อนแล้ว อีกคลิปสั้นๆที่ถูกเผยแพร่เป็นภาพนายทหารอิสราเอลถูกทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มติดอาวุธ และยังมีภาพที่ทหารอิสราเอลนอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นด้วย ขณะที่ทหารอีกนายถูกนำตัวออกไปโดยกลุ่มฮามาส ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับสถานที่ที่นายทหารอิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวไป       

โฆษกกระทรวงกลาโหมอิสราเอลแถลงข่าวซึ่งมีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ ยอมรับว่ามีทหารอิสราเอลเสียชีวิตและถูกจับตัวไปเป็นเชลย นอกจากนี้ยังมีพลเรือนถูกจับไปเป็นตัวประกันด้วย โดยระบุว่า การบังคับจับกุมตัวพลเรือนไปนี้ถือเป็นการกระทำ “อาชญากรรมสงคราม”

นี่คือการโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดของกลุ่มฮามาสในรอบหลายปี

การที่ทหารและพลเรือนอิสราเอลไม่ทราบจำนวนถูกนำตัวไปในเขตกาซาที่ยึดครองโดยกลุ่มฮามาสนั้น เป็นประเด็นที่ถือว่าอ่อนไหวอย่างยิ่งสำหรับอิสราเอล นอกจากนี้ กลุ่มฮามาสยังไม่ได้กระทำการในลักษณะจับกุมตัวทหารหรือพลเรือนของอิสราเอลไปเป็นเชลยหรือตัวประกันมาเป็นปีๆแล้ว ล่าสุดคือปี 2006 (พ.ศ.2549) กลุ่มฮามาสจับตัวทหารอิสราเอลไป 1 นายและควบคุมเขาไว้เป็นเวลา 5 ปีก่อนปล่อยตัวไปภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักโทษ ซี่งครั้งนั้นฝ่ายอิสราเอลยอมปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์มากกว่าพันนาย

จากการตรวจสอบตำแหน่งการบันทึกภาพวิดีโอของกลุ่มฮามาส สำนักข่าว CNN พบว่า ภาพเชลยอิสราเอลถูกบันทึกในพื้นที่ด้านตะวันออกของกาซาใกล้กำแพงชายแดน

หนึ่งในคลิปวิดีโอที่ถูกตรวจสอบแสดงภาพกลุ่มฮามาสบังคับจับกุมตัวประกันที่เป็นพลเรือนสตรีรายหนึ่งด้วย โดยเธอมีใบหน้าเปื้อนเลือด มือถูกมัดไพล่หลัง ไม่สวมรองเท้า และถูกบังคับขึ้นไปบนรถที่ติดป้ายทะเบียนเป็นของกองกำลังอิสราเอล ซึ่งคาดว่าอาจจะถูกขโมยมาและถูกนำเข้าไปในเขตกาซา

โฆษกของกองทัพอิสราเอลเปิดเผยว่า มีสองพื้นที่สำคัญที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่กลุ่มฮามาสจับตัวประกันไป คือ หมู่บ้านโอฟาคิม (Ofakim) ในเมืองเนเกฟ (Negev) และเมืองบีรี (Beeri)ใกล้เขตฉนวนกาซา นอกจากนี้ ยังระบุว่า มีการสู้รบกันใน 22 พื้นที่ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดจำเพาะเจาะจง

“เราพร้อมบุกในภาคพื้นดิน และพร้อมปฏิบัติการในทุกรูปแบบ” โฆษกกองทัพอิสราเอลกล่าวว่ามีการระดมกำลังพลแล้วโดยแบ่งเป็น 4 หน่วยทัพ รวมทั้งกองทัพรถถัง พร้อมมุ่งหน้าไปยังเขตกาซาที่ตั้งของปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ทางตอนใต้  

เร่งตรวจสอบข่าว 2 แรงงานไทยถูกลักพาตัวในอิสราเอล

กรณีที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศนำเสนอข่าวแรงงานไทยถูกลักพาตัวระหว่างการโจมตีในอิสราเอลนั้น นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยวานนี้ (7 ต.ค.) ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ แจ้งว่า จากการประสานแรงงานไทยในพื้นที่พบอาจมีแรงงานไทยถูกจับไป 2 คน อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบกับทางการอิสราเอล ทางการอิสราเอลยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ และรับจะเร่งตรวจสอบให้ต่อไป

ทั้งนี้ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ติดตามอย่างเต็มที่  และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเครื่องบินเพื่อภารกิจอพยพคนไทยในอิสราเอล หากสถานการณ์จำเป็นและมีสัญญาณให้บินเข้าไปได้ โดยวันอาทิตย์นี้ ( 8 ต.ค.) จะมีการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ   

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดหมายเลขฉุกเฉินเพิ่มเติม คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลข +972 546368150

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อสอบถามเกี่ยวกับญาติที่พำนักอยู่ในอิสราเอล สามารถติดต่อ Call center กรมการกงสุล ที่หมายเลข 02 5728442 (ตลอด 24 ชม.) และหมายเลขฉุกเฉินกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศที่หมายเลข
064-019-8530
064-019-8907
099-616-4786
(เปิดให้บริการวันที่ 8 ตุลาคม 2566) หรือ ที่หมายเลข 02-575-1047-51 , 02-575-1053 (ในวันเวลาราชการ) 

ข้อมูลอ้างอิง