ข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุดที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า เศรษฐกิจจีน ที่ฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนลังเลใจมากขึ้นในการใช้จ่ายเงินด้านการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวทำให้จำนวน นักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางมาเยือน 5 ประเทศอาเซียน ในเดือนพ.ค.ปีนี้ มีสัดส่วนเพียง 14% - 39% ของตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2019 (หรือ พ.ศ. 2562) ช่วงก่อนที่โควิดจะอุบัติขึ้น
ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาดบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้จะซบเซา ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ อันเป็นผลจากการคุมเข้มนโยบายการเงินและเศรษฐกิจจีนที่เผชิญภาวะสะดุด
แม้ ประเทศไทย จะได้ประโยชน์จากอุปสงค์การเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนไทย มีแนวโน้มจะต่ำกว่าเป้าหมายอย่างเป็นทางการสำหรับปี 2566 ที่เบื้องต้นตั้งไว้ 7 ล้านคน คาดว่าอาจจะพลาดเป้าได้อย่างน้อย 2 ล้านคน
นักวิเคราะห์ของโนมูระ โฮลดิ้งส์ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลือเพียงระดับ 3.4% จากที่เดิมเคยคาดไว้ 4% โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าคาดนั่นเอง
สถานการณ์แทบจะไม่แตกต่างกันนักใน “บาหลี” ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากของอินโดนีเซีย ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ พีที บาฮานา เซคูริทาส ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการห้องพักโรงแรมหรูในอินโดนีเซียลดลงในเดือนม.ค. – พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการลดลงของนักท่องเที่ยวจากจีน
แม้กระทั่ง สิงคโปร์ ก็มีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่น่าผิดหวังเช่นกัน หลังการเดินทางที่เฟื่องฟูช่วยให้สิงคโปร์รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้มาได้ โดยข้อมูลของคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ระบุว่า ยอดนักท่องเที่ยวจีนในเดือนม.ค. – พ.ค.2566 อยู่ที่ 310,901 คน เทียบกับจำนวน 1.55 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2562
นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด แต่ญี่ปุ่นมีกลุ่มนักช็อปใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่ชาวจีน
ทาคาชิมายะ ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมี.ค. – พ.ค.ปีนี้ ยอดขายของบริษัท เกือบๆ 70% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน นับว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดที่ตัวเลขนี้อยู่ที่ระดับ 20% เท่านั้น
แม้จะยังมีคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนอาจกลับเข้ามามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปีมา เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ประเทศในอาเซียนที่เคยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก จำเป็นจะต้องกระจายๆ ตลาดเป้าหมายของตัวเองให้หลากหลายมากขึ้น และเลิกพึ่งพิงตลาดจีนเพียงแห่งเดียวได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง