ไต้หวันตะลึง คดีครูให้เด็กอนุบาลกินยาแก้ไอผสมสารเสพติด เด็กสุดแค่ 5 ขวบ

20 มิ.ย. 2566 | 18:39 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 19:22 น.

ผู้ปกครองไต้หวันตะลึงและแสดงความวิตกมากขึ้นจนต้องมาชุมนุมเรียกร้องมาตรการรับมือของภาครัฐเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) กรณีการไต่สวนคดีครูให้เด็กวัยอนุบาลกินยาแก้ไอผสมสารเสพติด

 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การสืบสวนสอบสวนกรณี การวางยาเด็กปฐมวัย ใน โรงเรียนอนุบาล แห่งหนึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว เกาะไต้หวัน โดยผลการสอบสวนพบว่า ครูหลายคนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในนครนิวไทเปของไต้หวันตกเป็นผู้ต้องหาว่า พวกเขาได้วางยาระงับประสาทให้กับเด็กอนุบาลด้วยการให้กินยาแก้ไอชนิดน้ำที่มีส่วนผสมของ ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) และ เบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepines) ซึ่งเป็นสารเสพติด

ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีดังกล่าวเป็นเวลาหลายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ระบุว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงถูกป้อนยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของสารเสพติดซึ่งทำให้พวกเขามีอาการที่ผิดปกติไป เช่น การไม่อยู่นิ่ง ดูกระวนกระวาย เป็นตะคริว และกรีดร้อง เป็นต้น

คดีอื้อฉาวนี้ยังได้จุดชนวนให้ผู้ปกครองหลายครอบครัวออกมาประท้วงหน้าสถานที่ราชการ โดยประชาชนหลายร้อยคนได้เข้าร่วมเดินขบวนประท้วงในนครนิวไทเปเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่มีการสอบสวนที่โปร่งใสมากขึ้น และต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้มากกว่าที่เป็นอยู่

การชุมนุมประท้วงของบรรดาผู้ปกครอง

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ยังมีอีกคดีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของบุคลากรการแพทย์ในเมืองเกาสง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ระบุว่า พบแพทย์ 4 รายมีความผิดฐานประพฤติมิชอบและใช้ยา “ฟีโนบาร์บิทัล” อย่างผิดวัตถุประสงค์กับเด็กประมาณ 20 คน ล่าสุด แพทย์กลุ่มนี้ทั้งหมดถูกสั่งงดปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 6 เดือน และถูกปรับเงินคนละ 1.4 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือราว 46,121 ดอลลาร์สหรัฐ

เภสัชกรชาวไต้หวันกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า แม้จะพบได้ยาก แต่ยาแก้ไอและยาโรคทางเดินอาหารบางชนิด ก็มีสารฟีโนบาร์บิทัลเป็นส่วนประกอบ

ทำความรู้จัก ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) และ เบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepines)

ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) เป็นยาในกลุ่มยากันชัก และกลุ่มยากดประสาท

ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)

  • เป็นยาในกลุ่มยากันชัก และกลุ่มยากดประสาท  ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับในระยะสั้น และช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล ความรู้สึกตึงเครียด ความรู้สึกหวาดกลัวได้ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางจึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ ผ่อนคลายและหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมักใช้รักษาอาการชักในกรณีฉุกเฉิน และอาจใช้เพื่อรักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย
  • ยาฟีโนบาร์บิทัลเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ถ้าเป็นชนิดรับประทานจะต้องรับประทานตามที่แพทย์กำหนด ถ้าเป็นยาชนิดฉีดจะต้องได้รับภายในสถานพยาบาลเท่านั้น หรือหากได้รับอนุญาตให้ใช้ที่บ้าน ผู้ใช้ยาจะต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้อย่างละเอียด เพื่อป้องกันผลไม่พึงประสงค์ที่อาจตามมาได้
  • เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาอันตราย ควรระมัดระวังในการใช้โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากไม่มีผลการยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพในการใช้ยานี้ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัล ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย สับสน ซุ่มซ่ามผิดปกติ รู้สึกมึนงง เชื่องช้า และซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน มีอาการเดินเซ รู้สึกง่วงในระหว่างวันมากผิดปกติ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หายใจช้าลง หรือถึงขั้นหยุดหายใจ

ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines)

  • ยากลุ่มนี้จัดเป็นยาคลายกังวล (Anxiolytic) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางสามารถนำไปใช้รักษาได้หลายอาการ เช่น อาการนอนไม่หลับ ภาวะลมชัก คลายกล้ามเนื้อหรือคลายความวิตกกังวล บางขนานมีผลทำให้ง่วงนอนได้มาก และถูกใช้เป็นยานอนหลับ ในปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังคงเป็นยาหลักในการรักษาอาการนอนไม่หลับ เช่น  ไดอะซีแพม (Diazepam) ฟลูราซีแพม (Flurazepam) ไทรอะโซแลม (Triazolam) ลอราซีแพม (Lorazepam) อัลพราโซแลม (Alprazolam) เทมาซีแพม (Temazepam) ฯลฯ การใช้ยาเหล่านี้ในขนาดสูงติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือขนาดต่ำติดต่อกันหลายเดือนอาจทำให้เกิดการติดยา และเมื่อเลิกยาทันทีจะเกิดอาการถอนยา (Withdrawal) เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล หงุดหงิด ฯลฯ ถ้าหากรับประทานยากลุ่มนี้ในขนาดสูงและติดต่อกันนานเมื่อเลิกยาอาจมีอาการนอนไม่หลับมากขึ้น (Rebound insomnia)

จากความวิตกกังวลของประชาชน ทำให้โรงพยาบาล Taipei City Hospital ในนครไทเป เริ่มให้บริการตรวจเลือดฟรีแก่เด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียน ว่ามีร่องรอยของสารเสพติดหรือยากล่อมประสาทเหล่านี้หรือไม่

ย้อนรอยเหตุการณ์ครูป้อน "ยาที่น่าสงสัย" ให้เด็กอนุบาล

เรื่องอื้อฉาวนี้ถูกเปิดโปงครั้งแรกในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อผู้ปกครองของเด็กเล็กที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในนครนิวไทเปของไต้หวัน ออกมาร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนป้อน “ยาอะไรที่ไม่รู้จัก” ให้ลูกของพวกเขากิน  ผู้ปกครองรายหนึ่งของเด็กวัย 5 ขวบเล่าว่า เขาสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการเหมือนคนถอนยา (withdrawal symptoms) คือมีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข กรีดร้องเวลานอนหลับ ขาเป็นตะคริว

หลังจากสอบถามลูกก็ได้ข้อมูลว่า คุณครูที่โรงเรียนป้อนยาน้ำที่พวกเขาไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นยาอะไรให้กิน นั่นนำไปสู่การแจ้งความต่อตำรวจในเดือนเม.ย. และ พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นก็มีข้อร้องเรียนของรายอื่นๆเพิ่มมากขึ้นในเดือนมิ.ย.

การสอบสวนเพิ่มเติมทำให้ตำรวจทราบว่า มีเด็กเล็กอย่างน้อย 8 คนที่โรงเรียนแห่งนี้ที่ตรวจพบร่องรอยของฟีโนบาร์บิทัลและเบนโซไดอะซีพีนในเลือด

โรงเรียนอนุบาลต้นเหตุซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแฟรนไชส์อนุบาล Kid Castle Educational Institute ถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา และผู้อำนวยการโรงเรียนถูกสั่งปรับ 1.5 แสนดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 4,872 ดอลลาร์สหรัฐ ครูใหญ่และครูอีก 4 คนถูกตำรวจจับและหลังการสอบปากคำก็ได้รับการประกันตัว แต่ตำรวจยังคงไต่สวนหาหลักฐานในคดีอาญา   

ข้อมูลอ้างอิง

Taiwan kindergarten druggings spark alarm among island's parents

ขอบคุณข้อมูลยาจาก เว็บไซต์ https://www.pobpad.com/phenobarbital