สื่อนอกมองกรณีไทยจัดประชุมหารือวิกฤตเมียนมาเป็น “รอยแยกในอาเซียน”

20 มิ.ย. 2566 | 04:41 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 05:22 น.
807

สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลรักษาการของไทยพยายามปกป้องการตัดสินใจจัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกด้านจุดยืนที่มีต่อเมียนมาภายในอาเซียนเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.)

 

การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นวานนี้ (19 มิ.ย.) เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันถึงแผนสันติภาพที่ยังขาดความคืบหน้าใน เมียนมา เกิดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี หลังจากที่ รัฐบาลไทย โดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศได้ออกจดหมายเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา เชื้อเชิญนายตาน ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ร่วมการเจรจากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของ อาเซียน เป็นเวลาสองวันเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ แต่หลายชาติสมาชิกฯ ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการของไทย กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากไทยเดือดร้อนมากกว่าประเทศอื่น เพราะมีพรมแดนติดกับเมียนมามากกว่า 3,000 กม. ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมยืนยันว่าการเจรจาเมื่อวันจันทร์เป็นเพียงการพบปะกันเท่านั้น มิได้มีการตกลงใด ๆ เกิดขึ้น

สื่อต่างประเทศรวมทั้งสำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพี รายงานว่า ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา ผู้นำทหารเมียนมาถูกปฏิเสธการเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงของอาเซียน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และไม่เริ่มการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจ

รอยเตอร์ระบุว่า การจัดประชุมของไทยครั้งนี้ได้ทำให้เกิดการแบ่งแยกสมาชิกอาเซียนออกเป็นสองฝ่ายท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม และถือเป็นการ “กัดเซาะ” ความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขจัดการวิกฤตในเมียนมา โดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และมาเลเซียต่างปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งไม่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมเช่นกัน เตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงในอาเซียน

ขณะที่กัมพูชายืนยันส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และจีนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมามาโดยตลอด ส่งนายเติ้ง สีจุ้น ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเชีย เข้าร่วมการประชุม

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรักษาการด้วยว่า ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตในเมียนมามากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน และยังระบุว่า "ไทยคือประเทศเดียวที่ต้องการหาทางแก้ไขจัดการปัญหา" ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลไทยกำลังต้องการหาทางนำเมียนมากลับเข้าสู่การประชุมระดับสูงภายในอาเซียนอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบของอาเซียน แต่จะช่วยส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ซึ่งไทยได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) ว่า ไทยจะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติ ซึ่งสมาชิกอาเซียนต่างก็รับทราบและไม่มีผู้คัดค้าน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไทยยังเคยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาแล้วหลายครั้ง ในหลากหลายรูปแบบและหลายระดับ โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3

ด้านองค์กร ASEAN Parliamentarians for Human Rights เรียกการเจรจาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ว่า เป็น"การทรยศต่อประชาชนเมียนมา และสบประมาทความเป็นเอกภาพของอาเซียน"

นายซาชารี อาบูซา จากวิทยาลัยสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตันดีซี ให้ความเห็นกับสื่อนิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น ถึงการประชุมหารือในไทยครั้งนี้ว่า ดูเหมือนรัฐบาลรักษาการของไทยตั้งใจตัดหน้ารัฐบาลก้าวไกลที่กำลังอยู่ในกระบวนการจัดตั้ง และดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯรักษาการและนายดอน รัฐมนตรีต่างประเทศ มุ่งมั่นเดินหน้าสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของกองทัพไทย และชนชั้นนำรอยัลลิสต์ พร้อมๆ  กับให้ความช่วยเหลือสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (เอสเอซี)

เกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่ในการจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรองข่าว ทางเนชั่น ทีวี ช่อง 22 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ในการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ อาจแก้ปัญหาได้โดยการเชิญตัวแทนของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาร่วม เพราะในอนาคตจะเป็นว่าที่รัฐบาล และจะทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ แต่ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องการปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่เราไม่มีส่วนโดยตรง ดังนั้นการทำเรื่องดังกล่าวในอนาคตอาจต้องคุยหรือสื่อสาร เชิญหลายฝ่ายเข้ามาหารือ

เมื่อถามถึงชาติสำคัญอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปฏิเสธการเข้าร่วมจะเป็นผลเสียหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า สำหรับอินโดนีเซียต้องกังวลแน่ เพราะมีตำแหน่งทางการ ต้องรักษากฎกติกาและมองว่าฝ่ายไหนใช้กำลัง ฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก ต้องประจาน แต่อาเซียนไม่ได้ใช้หลักทางการเท่านั้น เพราะเรามีความสัมพันธ์แบบยืดหยุ่น

"3-4 ประเทศนั้นๆ เขามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประเทศตะวันตก เขาค้าขายกันมาก ดังนั้น ต้องยึดความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ โดยเฉพาะอินโดนีเซียแม้จะส่งตัวแทนมาร่วมแบบไม่เป็นทางการ ก็ดูไม่ดี ทั้งนี้ต้องยืนยันว่าเราไม่ได้ทำแทนอาเซียน หรือทำคู่ขนาน แต่เป็นการทำเพื่อเสริมอาเซียน เมื่อได้ผลดีอย่างไร ต้องส่งให้อาเซียนดำเนินการต่อ เช่น เจรจายุติความรุนแรง ทั้งนี้ ประเด็นพูดคุย เชื่อว่าจะเป็นเรื่องการยุติความรุนแรง โดยไม่แทรกแซงการเมืองภายใน และขอให้เปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้พี่น้องเมียนมาที่เดือดร้อน ซึ่งขณะนี้ทำไม่ได้" นักวิชาการด้านความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศกล่าว

"รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา กังวลเรื่องข้อผูกพัน แต่ในทางกฎหมายมีไม่มาก เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจ ความเข้าใจ และเคารพกติกาในแง่ฉันทามติมากกว่า เป็นหลักการอาเซียนที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว แต่การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้ขยายวงไปถึงคนที่จะมารับช่วงต่อ หากให้เขาเข้ามามีส่วนตั้งแต่แรก อาจคลายกังวล" นายปณิธานกล่าวและทิ้งท้ายว่า กรณีที่ไทยดำเนินการเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหากการเจรจามีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เราไม่ได้ไปถึงจุดนั้น

ตอนนี้สิ่งที่พูดถึงคือการยุติการใช้กำลัง การใช้อาวุธ หยุดความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้พบว่า การบริหารจัดการชายแดน เช่น บังกลาเทศ อินเดีย มีปัญหา พบการทะลักของคนเมียนมา เกิดกระบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธชายแดน ดังนั้น หัวใจของการพูดคุยคือ การคลี่คลายสถานการณ์และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีการเสนอทีมเข้าไปแล้ว แต่หากมีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วม มาร่วมทำงานด้วยจะทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างแท้จริง