กระทรวงต่างประเทศ ประชุมถกปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา

19 มิ.ย. 2566 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 11:39 น.

กระทรวงต่างประเทศ จัดการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นการจัดประชุมในกรอบอาเซียน

วันนี้ 19 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงต่างประเทศ จัดการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบอาเซียน แต่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา

ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2565 ว่า ไทย จะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีซึ่งจะได้มาเพื่อการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติในทุกกรอบ รวมทั้งในกรอบ 1.5 ซึ่งครอบคลุมการประชุมทั้งภาคราชการและวิชาการ ซึ่งสมาชิกอาเซียนรับทราบและไม่มีผู้คัดค้าน

ไทยเคยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาแล้วหลายครั้ง ในหลากหลายรูปแบบและหลายระดับ ซึ่งได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทุกครั้ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียนทราบและเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย รวมทั้งเคยจัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย รวมทั้งพบกับผู้แทนของสหประชาชาติในโอกาสต่อมา

ตลอดจนจัดให้นักธุรกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในของเมียนมาได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของเมียนมาโดยตรง ทำให้ปัญหาหลายประการคลี่คลายไปได้ นอกจากนั้น ไทยเคยจัดให้ภาคส่วนที่สนใจในการหาทางแก้ไขปัญหาเมียนมาโดยวิธีสันติ ตลอดจนนักวิชาการ มาร่วมการสัมมนาในหัวข้อที่สำคัญ อาทิ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดซึ่งกันและกันได้ โดยเน้นว่าจะไม่มีการนำเอาเรื่องที่พูดคุยกันออกมาเปิดเผยเพื่อให้การสนทนาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยให้ความสำคัญกับการทูตและการเจรจาในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

 

 การพูดคุยเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการทูตทั่วโลก เพื่อแสวงหาทางออกโดยสันติ ซึ่งหลักการของอาเซียนก็เน้นย้ำการปรึกษาหารือ (consultations) การร่วมมือ (cooperation) และฉันทามติ (consensus) ตั้งแต่อาเซียนเพิ่งเริ่มก่อตั้ง ทั้งยังเน้นเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ทำให้อาเซียนสามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมืองมาได้ถึงปัจจุบัน จนทำให้เกิดคำที่เรียกว่า ความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) จากความเป็นปึกแผ่นและมีเอกภาพ ทำให้อาเซียนสามารถมีบทบาทนำท่ามกลางความท้าทายและความหลายหลากของประเทศสมาชิก

 

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร ไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรง การสู้รบตามชายแดนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า 2  แสนล้านบาทความมั่นคงทางพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ แก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาประจำที่เกิดขึ้น โดยไทยไม่อาจรั้งรอในการแก้ปัญหาได้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการจัดตั้ง Humanitarian Task Force โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และได้ประสานงานองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติ โดยได้ให้ความช่วยเหลือทั้งโดยตรงต่อเมียนมา และร่วมกับอาเซียน ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นในภาวะภัยการสู้รบและภัยธรรมชาติ

การประชุมครั้งนี้จะมีผู้แทนระดับสูงจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม เข้าร่วม