บทบาทของ BIMSTEC และ GMS ของเมียนมา

19 มิ.ย. 2566 | 05:45 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา บทบาทของ BIMSTEC และ GMS ของเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นภาพข่าวชิ้นหนึ่ง ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ด้วยภาพ ฯพณฯ ท่าน U Aung Naing Oo รัฐมนตรีพาณิชย์ของรัฐบาลเมียนมา ได้เข้าร่วมการประชุม BIMSTEC Business Conclave ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน และได้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ในงานดังกล่าวด้วย ในฐานะที่เคยได้ร่วมเวทีกับท่านมาก่อน ในยุคของรัฐบาลที่ผ่านมาของเมียนมา ผมรู้สึกชื่นชมและยินดีกับบทบาทหน้าที่ของท่านมากครับ
       
ซึ่งภาพดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นว่าทางการเมียนมา ตั้งแต่ในยุคที่การปกครองของรัฐบาลชุดนี้ ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้มีหลายประเทศที่พยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศเมียนมาไม่มีประชาธิปไตย หรือเหตุผลที่หนักไปกว่านั้นก็คือ การทำรัฐประหารของรัฐบาลทหาร เราในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมายาวที่สุด ผมก็ได้พยายามเขียนบทความ ที่จะไม่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างชนชาติมาโดยตลอด 

ซึ่งผมก็เชื่อของผมเองว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องภายในประเทศของเขา คำนิยามของคำว่า “ประชาธิปไตย” ด้วยวัฒนธรรมประเพณี การปฏิบัติตั้งแต่ดั้งเดิมของเขา เราอาจจะไม่สามารถตีความเรื่องของแนวคิด และไม่สามารถไปวิเคราะห์วิจารณ์เนื้อหาของรัฐธรรมนูญประเทศเขาได้ ดังนั้นเราก็ควรจะเป็นผู้ชมที่ดีในการนั่งดูละครหรือดูลิเก ชอบก็ปรบมือ ตลกก็หัวเราะ เศร้าก็แค่น้ำตาซึม หรือไม่ชอบก็นั่งเฉยๆ น่าจะดีกว่านะครับ
       
เรามาวิเคราะห์กันเล่นๆ นะครับว่า ณ วันนี้เวทีการประชุมใหญ่ๆ เช่น การประชุมผู้นำระดับประเทศของโลก หรือระดับทวีปเอเชีย หรือแม้แต่ระดับอาเชียน เกือบทุกๆ เวทีประเทศเมียนมาจะถูกอิทธิพลของชาติตะวันตก กีดกันจากนโยบายแซงชั่น 

ดังนั้นประเทศเมียนมา จึงต้องพยายามเสาะหาเวทีที่รองลงมา เหมือนกับเวทีของ BIMSTEC และ GMS นี่แหละครับ มาใช้ในการแหวกวงล้อมของการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ซึ่งก็น่าเห็นใจนะครับ เราคงไม่อยากให้ประเทศไทยเรา เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง กับการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้นแน่ๆ เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องเป็นเพื่อนบ้านเขาชั่วกาลนานครับ
       
เรามารู้จักกับการประชุม BIMSTEC หรือชื่อเต็มว่า “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) กันหน่อย BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ซึ่งประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ได้เกิดขึ้นจากการริเริ่มของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ด้วยวัตถุประสงค์หลักของ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียใต้เข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเชียน) 

โดยที่ไทยและเมียนมาเป็นเพียงสองประเทศในอาเชียนที่เป็นสมาชิก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ เป็นสะพานเชื่อมโยงอนุภูมิภาคทั้งสอง คือกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ และภูมิภาคอาเชียนเข้าหากัน ที่ผ่านมาไทยก็ใช้ BIMSTEC เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเรา สามารถขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ที่ในวันนี้อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่หนึ่งของโลก แซงหน้าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนไปแล้ว 

อีกทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก มีแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ อยู่มากมาย อาทิเช่น ก๊าซธรรมชาติ และศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลกเลยละครับ ผมจึงดีใจที่ประเทศเมียนมาไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และการประชุมที่ผ่านมานี้ ผมก็เชื่อว่า ฯพณฯท่าน U Aung Naing Oo ต้องทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นเคยครับ และในปลายปีนี้ประเทศไทยเราก็จะได้รับเกียรติในการรับเป็นเจ้าภาพ ในการจัดประชุมใหญ่ของเวทีนี้ หวังว่าประเทศเมียนมา จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเหมือนที่ผ่านๆ มาครับ
       
BIMSTEC มีสาขาความร่วมมือทั้งหมด 14 สาขา และมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละสาขา ให้แก่ประเทศสมาชิกไปกำกับการดูแล ประเทศไทยเราได้รับหน้าที่ดูแลในด้านสาขาประมง สาขาสาธารณสุข สาขาปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ส่วนสาขาอื่นๆ ประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็รับไป ส่วนตัวผมเองก็เคยได้เป็นตัวแทนคนหนึ่งของประเทศไทย เข้าไปร่วมประชุม จึงพอจะทราบรายละเอียดอยู่บ้างครับ 
       
ส่วนอีกหนึ่งเวที ที่ผมคิดว่า เป็นช่องทางในการแสดงบทบาทของประเทศเมียนมาในวันนี้ นั่นก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Subregion ที่เรียกย่อๆ ว่า GMS เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งของประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศด้วยกัน คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) 

โดยกำเนิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1992 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นผู้สนับสนุนหลัก มีวัตถุประสงค์ คือ การส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการสนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน ตลอดจนใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในการค้าโลก 

โดยใช้กรอบแนวคิดของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDGs (Sustainable Development Goals ) ที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals)  เป้าประสงค์ (Targets)ทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ และตัวชี้วัด (Indicators) จำนวน 232 ตัวชี้วัด เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าประสงค์ของ SDGs  ต่อมาประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคนี้ จึงมีแนวคิดจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( Greater Mekong Subregion Economic Corridors) 

โดยได้มีการประชุมและเจรจาหารือระหว่างผู้นำและรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม GMS เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือ รวมถึงแผนงานและยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาในปีนี้ ก็มีการประชุมกลุ่มสาขาต่างๆ ของ GMS มาหลายครั้ง ผมก็ได้เข้าร่วมประชุมทั้งในการเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยไทย และจัดโดยสปป.ลาว ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่จัดโดยเมียนมา ซึ่งก็เห็นได้ว่า ทุกครั้งตัวแทนของประเทศเมียนมา เขาจะแสดงบทบาทของเขาได้อย่างสมศักดิ์ศรีเลยทีเดียวครับ
       
จึงไม่น่าแปลกใจว่า การใช้เวทีในการแสดงบทบาทของประเทศเมียนมา ในห้วงเวลาที่ยากลำบากนี้ น่าจะต้องเห็นใจและส่งกำลังใจไปให้เขา เพื่อเราจะได้จับมือกันเดินไปด้วยกัน อย่าให้อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ที่เสมือนเม็ดกรวดทรายในรองเท้า มาเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจนะครับ เพื่อนย่อมไม่ทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลังเสมอครับ