อพยพ!มวลน้ำทะลักเขื่อนใหญ่ในยูเครนแตก เซเลนสกีลั่นฝีมือบอมบ์รัสเซีย

06 มิ.ย. 2566 | 16:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2566 | 16:32 น.
801

เกิดเหตุระทึกขวัญวันนี้ (6 มิ.ย.)เมื่อเขื่อนขนาดใหญ่"โนวา คาคอฟกา"ในภูมิภาคเคอร์ซอนของยูเครน ถูกวางระเบิดจนแตกทำให้มวลน้ำมหาศาลทะลักออกมา

 

สื่อยูเครนรายงานว่า เขื่อนโนวา คาคอฟกา (Nova Kakhovka) หนึ่งใน เขื่อนใหญ่ของยูเครน ตั้งอยู่ใน ภูมิภาคเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียได้ถูกวางระเบิดจน เขื่อนแตกทำให้มวลน้ำมหาศาลทะลักออกมาจำนวนมาก 

เขื่อนดังกล่าวเป็นเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ความจุเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper) ซึ่งเป็นทางน้ำสายหลักที่ไหลผ่านภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน และมีหลายเมืองรวมถึงเคอร์ซอนที่อยู่ในเขตท้ายน้ำ

นายโอเล็กซานเดรอ โปรคูดิน ผู้ว่าการภูมิภาคเคอร์ซอน เปิดเผยว่า มีประชาชนประมาณ 16,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่วิกฤตบนฝั่งขวาของแม่น้ำดนีเปอร์ "ประชาชนกำลังถูกอพยพไปยังเขตต้นน้ำ และจะถูกนำตัวขึ้นรถบัสแล้วต่อรถไฟไปยังเมืองมิโคลาเยฟ และเมืองอื่น ๆ ที่ปลอดภัยกว่า เช่น คเมลนีตสกี โอเดสซา โครปีนิตสกี และเคียฟ" โปรคูดินกล่าว เขายังประเมินว่า ผลจากความเสียหายของเหตุการณ์เขื่อนโนวา คาคอฟกา แตกนั้น จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจนถึงระดับวิกฤตภายใน 5 ชั่วโมง

มุมมองจากทางอากาศของเขื่อนโนวา คาคอฟกา (Nova Kakhovka)

ด้านนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นถึงมวลน้ำมหาศาลที่ไหลทะลักออกมาจากรอยแตกขนาดใหญ่ของเขื่อนโนวา คาคอฟกา

"ผู้ก่อการร้ายชาวรัสเซียทำลายเขื่อนที่เราใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ นี่เป็นการยืนยันต่อคนทั้งโลกว่า พวกเขาจะต้องถูกขับไล่ออกจากทุกตารางเมตรของดินแดนยูเครน ไม่ควรให้เหลือแม้แต่ตารางเมตรเดียว เพราะพวกเขาใช้ทุก ๆ ตารางเมตรสำหรับสร้างความหวาดกลัว" ผู้นำยูเครนกล่าวว่า มีเพียงชัยชนะของยูเครนเท่านั้นที่จะทำให้ประชาชนได้ความปลอดภัยกลับคืนมา และเขาขอให้คำมั่นว่า ชัยชนะนี้จะมาถึงแน่

"ผู้ก่อการร้ายจะไม่สามารถหยุดยูเครนได้ด้วยมวลน้ำ ขีปนาวุธ หรือสิ่งอื่นใด" นายเซเลนสกีย้ำ และยังระบุว่า  ได้มีการเรียกประชุมสภาความมั่นคงและป้องกันประเทศเป็นการด่วนแล้ว

มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักออกจากเขื่อนที่มีรอยแตกขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 2 ของปฏิบัติการโต้กลับของยูเครน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบโต้ครั้งใหญ่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อแผนของยูเครนในการโต้กลับรัสเซีย

กองบัญชาการปฏิบัติการทางตอนใต้ของยูเครนยืนยันบนเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการว่า พวกเขากำลังประเมินสถานการณ์และความเสียหาย นอกจากนี้ ยังกล่าวโทษว่า "รัสเซีย" คือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุเขื่อนแตกครั้งนี้

"รัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่อการขาดแคลนน้ำดื่มของประชาชนทางตอนใต้ของภูมิภาคเคอร์ซอนและในไครเมีย รวมถึงการทำลายถิ่นที่อยู่และชีวมณฑลของสิ่งมีชีวิตด้วย” นายแอนดรีย์ เยอร์มัก หัวหน้าสำนักประธานาธิบดียูเครนกล่าว

นายมิคาอิโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ให้ความเห็นว่า จุดประสงค์ในการทำลายเขื่อนนั้นชัดเจนมาก คือเพื่อสร้างอุปสรรคระหว่างทางให้กับกองทัพยูเครน และเพื่อชะลอการจบสงคราม "ในดินแดนอันกว้างใหญ่ ทุกชีวิตจะถูกทำลาย ถิ่นที่อยู่จำนวนมากจะถูกทำลาย ความเสียหายมหาศาลจะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม"

ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลกระทบต่อประชาชนและความเสียหายต่อพื้นที่ท้ายน้ำแล้ว ยังมีความกังวลว่า เหตุการณ์เขื่อนแตกครั้งนี้อาจส่งผลต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซียด้วย นอกจากนี้ ระบบน้ำประปาที่ส่งไปยังภูมิภาคไครเมีย (เดิมเป็นของยูเครน ปัจจุบันถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย) อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียนั้นเนื่องาจากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ต้นน้ำ การที่เขื่อนแตกอาจทำให้สูญเสียน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นและควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้อาจเสี่ยงต่อการระเบิดได้

อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคดีที่ความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำมาก สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)เปิดเผยว่า IAEA รับทราบรายงานสถานการณ์แล้ว และผู้เชี่ยวชาญที่โรงไฟฟ้ากำลังติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ ณ ขณะนี้ กล่าวได้ว่ายังไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัสเซียได้ปฏิเสธในตอนแรกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขื่อน แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมากล่าวโทษว่าการพังทลายของเขื่อนเกิดจากกระสุนปืนของยูเครน อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ (Interfax) อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ประสงค์ออกนามจากหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเคอร์ซอนว่า เขื่อนพังครั้งนี้เกิดจากจากโครงสร้างที่อ่อนแอของเขื่อนเอง และยืนยันว่าไม่มีการโจมตีใดๆเกิดขึ้น

ทั้งนี้ อนุสัญญาเจนีวาได้กำหนดเอาไว้ว่า การระเบิดเขื่อนอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะอาจก่อให้เกิดการปลดปล่อยมวลน้ำที่เป็นอันตรายและส่งผลให้เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงในหมู่พลเรือนได้