รู้จัก “โคแม็ค”(COMAC) บรรษัทการบินพาณิชย์จีน ผู้ท้าชนโบอิ้ง-แอร์บัส

05 มิ.ย. 2566 | 02:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2566 | 06:15 น.
552

ปลายเดือนพ.ค.2566 เครื่องบินโดยสาร “เมด อิน ไชน่า” ลำแรกของสายการบินไชน่า อีสเทิร์นฯ เหินฟ้าให้บริการอย่างเป็นทางการ นี่คือเที่ยวบินประวัติศาสตร์ประกาศศักดาของบริษัท COMAC ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารสัญชาติจีน

 

เครื่องบินโดยสารลำแรกที่ผลิตในประเทศจีน เริ่มบินให้บริการผู้โดยสารเที่ยวแรกในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผานมา ถือเป็นก้าวแรกของจีนในการเข้าสู่การแข่งขันใน อุตสาหกรรมการบิน ที่มีผู้ครองตลาดรายใหญ่ คือ บริษัทโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐอเมริกา และแอร์บัส (Airbus) ของสหภาพยุโรปนำทีมโดยฝรั่งเศส

เครื่องบินโดยสารของจีนมีชื่อว่า C919 ผลิตโดย บรรษัทการบินพาณิชย์จีน หรือ โคแม็ค (COMAC ย่อมาจาก Commercial Aircraft Corporation of China) บรรทุกผู้โดยสาร 130 คน เดินทางจากสนามบินเซี่ยงไฮ้ หงเฉียว (Shanghai Hongqiao Airport) ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (28 พ.ค.) และลงจอดที่กรุงปักกิ่งในอีกสองชั่วโมงต่อมาได้อย่างราบรื่น นับเป็นหลักชัยสำคัญของจีนในการก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินโลก

ไชน่าเดลี (China Daily) สื่อใหญ่ของทางการจีนรายงานว่า เที่ยวบินดังกล่าวดำเนินการโดยสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส (China Eastern Airlines) ของทางการจีน ด้านข้างลำตัวเครื่องบินมีข้อความว่า “The World's First C919” หรือ “เครื่องบิน C919 ลำแรกของโลก”

COMAC ใช้เวลาพัฒนาเครื่องบินโดยสารรุ่น C919 นานถึง 16 ปี

งานชิ้นโบว์แดงจากการพัฒนา 16 ปี

บริษัท COMAC (Commercial Aircraft Corporation of China Ltd.) หรือ บรรษัทการบินพาณิชย์จีน เป็นของรัฐบาลจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 (พ.ศ.2551) ถือเป็นการเปิดตัวโครงการพัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ของจีนอย่างเป็นทางการ 

COMAC ใช้เวลาพัฒนาเครื่องบินโดยสารรุ่น C919 นานถึง 16 ปี แม้เครื่องบิน C919 จะออกแบบเองโดยบริษัทสัญชาติจีน แต่ชิ้นส่วนสำคัญหลายอย่างยังคงต้องนำเข้าจากชาติตะวันตก รวมทั้งเครื่องยนต์

  • เครื่องบิน C919 สามารถบินได้ไกลสูงสุด 5,630 กิโลเมตร
  • บรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 158 - 168 คน
  • ทางบริษัทมีแผนจะผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ 150 ลำต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น COMAC พุ่งเป้าการแข่งขันไปที่ตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งมีเครื่องบิน A320 ของแอร์บัส และ B737 ของโบอิ้ง ครองตลาดอยู่ โดยเครื่องบินเหล่านี้มักใช้ในเที่ยวบินภายในประเทศหรือในภูมิภาค

ผู้บริหารของ COMAC เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ มียอดสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกของจีนเข้ามาแล้วมากกว่า 1,200 ลำซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ปฏิกิริยาจากโบอิ้ง...ไม่มีอะไรต้องกังวล

นายเดฟ แคลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโบอิ้ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้าสู่สังเวียนแข่งขันของ COMAC ว่า การที่จีนสามารถประกอบเครื่องบินของตนเองได้ ไม่จำเป็นที่จะหมายความว่า บริษัทจะมีคู่แข่งรายใหม่ในตลาดเครื่องบินที่ปัจจุบันมีเพียงผู้ผลิตสองรายคือ โบอิ้ง กับแอร์บัส ที่ครองอยู่

"เครื่องบินของจีนนั้นเป็นเครื่องบินที่ดี แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่า COMAC จะมีความสามารถในการผลิตมากพอ" เดฟ แคลฮูน

ซีอีโอของโบอิ้งยืนยันว่า โดยส่วนตัว เขาไม่คิดว่า ความสำเร็จของจีนในการผลิตเครื่องบินลำตัวแคบ รุ่น C919ได้ และเปิดตัวให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะกลายมาเป็น “การเริ่มต้นของจุดจบ” การเป็นหนึ่งในสองผู้ผูกขาดตลาดการผลิตเครื่องบินโลก (ของโบอิ้ง) ร่วมกับบริษัทแอร์บัส (Airbus SE) จากยุโรปแต่อย่างใด

"เครื่องบินของจีนนั้นเป็นเครื่องบินที่ดี แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่า COMAC จะมีความสามารถในการผลิตมากพอที่จะตอบสนองความต้องการซื้อของสายการบินจีนทั้งหมด" แคลฮูนกล่าว และว่า ผู้ผลิตเครื่องบิน 3 ราย (โบอิ้ง แอร์บัส และโคแม็ค) ในตลาดโลกที่ขยายตัวในระดับที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาเป็นประเด็นให้เครียดสมอง “การจะมากระวนกระวายใจมากไป ผมคิดว่ามันเหลวไหลไปนะ”

ผู้บริหารของโบอิ้งยังกล่าวด้วยว่า บริษัทจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน และวางจุดยืนของบริษัทให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี พร้อมชี้ว่า สำหรับโบอิ้งแล้ว จีนยังคงมีสถานะเป็นทั้งเพื่อน และเป็นลูกค้า แต่ก็ยอมรับว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจนั้น อาจเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลจีนที่ดำเนินอยู่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สายการบินของจีนได้เริ่มกลับมาใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ เพื่อให้บริการผู้โดยสารอีกครั้งแล้ว แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่ราบรื่นมากนัก เพราะการส่งมอบเครื่องบินที่สายการบินทั้งหลายสั่งซื้อ ยังประสบภาวะหยุดชะงัก ในช่วงที่สหรัฐและจีนยังมีความขัดแย้งกันอยู่

ข้อมูลอ้างอิง