“เยลเลน” เตือนภัย"หายนะทางเศรษฐกิจ"แน่ ๆ หากรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้

27 เม.ย. 2566 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2566 | 02:44 น.
595

เจเน็ต เยลเลน รมต.คลังสหรัฐ แสดงความกังวลอาจเกิด "หายนะทางเศรษฐกิจ" ขึ้นได้ หากรัฐบาลอเมริกันไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ และต้องผิดนัดชำระหนี้

 

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกากล่าวว่า หากสหรัฐไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ และหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลตามมา เหตุการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นางเยลเลนมีถ้อยเเถลงดังกล่าวขณะร่วมงานแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตันซึ่งมีผู้ร่วมฟังจากภาคธุรกิจในรัฐเเคลิฟอร์เนีย โดยเธอระบุว่า ถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ จะมีคนตกงานในอเมริกา ขณะที่ประชาชนต้องจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และหนี้บัตรเครดิตเป็นเงินจำนวนมากขึ้น

“สภาคองเกรสมีความรับผิดชอบพื้นฐาน ที่จะต้องยกระดับเพดานการกู้ของภาครัฐ หรือระงับการใช้เพดานหนี้ปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์” รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าว และยังบอกด้วยว่า การผิดนัดชำระหนี้จะสร้างความเสี่ยงต่อความก้าวหน้าที่เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังเกิดการระบาดของโควิด-19

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางเยลเลนได้เคยระบุต่อสมาชิกสภาสหรัฐมาครั้งหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลจะสามารถมีเงินชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ถึงต้นเดือนเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น หากไม่มีการยกระดับการกู้เงิน ซึ่งรัฐเเตะเพดานดังกล่าวไปแล้วในเดือนมกราคม2566

ทั้งนี้ ภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐได้พุ่งแตะเพดานที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ช่วงกลางเดือนมกราคม (19 ม.ค.) ขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันที่คุมเสียงข้างมากในสภาคองเกรสกำลังเผชิญหน้ากับสมาชิกพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในประเด็นทางออกของปัญหานี้ที่เกรงกันว่า อาจนำไปสู่วิกฤตการคลังในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นางเยลเลน กล่าวในช่วงขณะนั้นว่า กระทรวงการคลังได้เริ่มดำเนินมาตรการบริหารเงินสดแบบพิเศษที่จะช่วยให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ไปจนถึงวันที่ 5 มิถุนายนแล้ว อย่างไรก็ตาม เธอเตือนว่า วันสิ้นสุดของมาตรการจัดการเงินสดที่ดำเนินการอยู่ในเดือนมิถุนายน จะมาพร้อมกับความไม่แน่นอนในระดับพอสมควร เนื่องจากความท้าทายในการคาดการณ์การชำระหนี้และรายได้รัฐบาลในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ด้วยความเคารพ ดิฉันขอให้สภาคองเกรสทำการอย่างทันท่วงทีในการปกป้องความศรัทธาและความน่าเชื่อถืออันเต็มเปี่ยมต่อสหรัฐอเมริกา” นางเยลเลนกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พรรครีพับลิกันตั้งใจจะใช้เวลาที่มีอยู่จนกระทั่งมาตรการที่กระทรวงการคลังนำมาใช้นี้หมดฤทธิ์ เพื่อบีบให้ปธน.ไบเดนและวุฒิสภาที่พรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากอยู่ยอมตัดงบประมาณตามที่ฝ่ายตนเสนอ

อย่างไรก็ดี ไม่มีสัญญาณตอบรับจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตว่า จะมีฝ่ายใดที่เป็นผู้ยอมอีกฝ่ายก่อน ในเวลานี้

ข่าวระบุว่า พรรครีพับลิกันกำลังพยายามดำเนินการตามแผน “จัดลำดับความสำคัญหนี้” (debt prioritization) ที่ต้องการให้กระทรวงการคลังจัดลำดับความสำคัญการชำหนี้ต่าง ๆ รวมทั้งความสำคัญของแผนงานอื่น ๆ เช่น โครงการประกันสังคม (Social Security) และโครงการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ (Medicare) หากหนี้ของประเทศพุ่งทะลุเพดานระหว่างที่การเจรจาของสองฝ่ายยังดำเนินอยู่

ทั้งนี้ โอกาสที่สหรัฐจะผิดชำระหนี้ ทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันและตลาดหุ้นในสหรัฐเกิดความกังวลว่า การเผชิญหน้ากันในสภาคองเกรสระหว่างสมาชิกของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อาจนำมาซึ่งการหยุดชะงักของการทำงานของภาครัฐดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (credit rating) ของสหรัฐถูกปรับลดลงและรัฐบาลต้องตัดงบค่าใช้จ่ายทางทหารและส่วนอื่น ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

ในทางทฤษฎี สภาคองเกรสดำเนินแผนเพดานหนี้แบบครอบคลุมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 เพื่อจำกัดการขยายตัวของหนี้รัฐ แต่มาตรการนี้ไม่เคยได้ผลจริง เพราะกระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปีของคองเกรสนั้นไม่เคยดูตัวเลขเพดานหนี้เลย แต่มักตกลงที่จะตั้งงบใหม่ขึ้นมาดูแลต้นทุนงบใช้จ่ายที่อนุมัติไปก่อนหน้าตลอดเวลา