ซีอีโอเจพีมอร์แกน เตือนธุรกิจรับมือผลกระทบ"ดอกเบี้ยขาขึ้นลากยาว"

17 เม.ย. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2566 | 08:47 น.

ซีอีโอเจพีมอร์แกน เตือนนักลงทุนและภาคธุรกิจ เตรียมรับมือผลกระทบภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น มองเทรนด์ดอกเบี้ยเฟด มีโอกาสดีดใกล้แตะ 6.00% หวั่นกลุ่มพึ่งพาการกู้ยืม แบกภาระจ่ายดอกเบี้ยอ่วม

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เตือนว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจควรวางแผนรับมือกับผลกระทบของภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

"เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเหตุการณ์แห่ถอนเงินฝาก (bank run) ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และก่อนหน้านี้ในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการแข็งค่าของดอลลาร์ ก็ได้ส่งผลให้สหราชอาณาจักร ต้องเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ

 

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนและภาคธุรกิจ จึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อมือกับผลกระทบของภาวะอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนหรือธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมและแบกภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ" นายไดมอน กล่าวภายหลังจากเจพีมอร์แกนเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 เม.ย.)

ซีอีโอ เจพีมอร์แกน ฯ คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มดีดตัวขึ้นใกล้แตะระดับ 6% ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4% ภายในเดือน ม.ค.2567 โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ที่ระดับ 4.75% - 5.00%

"ผมเตือนลูกค้าทุกคนของเจพีมอร์แกนว่าให้เตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงของภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่าทำให้การลงทุนของท่านหรือธุรกิจของท่านต้องตกอยู่ในความเสี่ยง" นายไดมอนกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและหลายครั้งติดต่อกันนั้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SVB และเมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ธุรกิจเหล่านี้ก็แห่ถอนเงินฝากออกมาเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจของตน ส่งผลให้ SVB ต้องเพิ่มทุนด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ แต่ราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด จึงทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว ซึ่งทำให้ขาดทุน และล้มละลายในที่สุด