ตอบคำถาม ธนาคารล้ม จะส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ?

25 มี.ค. 2566 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 17:09 น.

ธนาคารล้ม ลามกระทบธนาคารยักษ์ใหญ่มะกันกุมขมับ คนแห่ถอนเงินฝากไม่หยุด เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โกลด์แมน แซคส์ ปรับความน่าจะเป็นจาก 25% เป็น 35% กดดันแบงก์ปล่อยกู้ยากขึ้น ขณะส่งผลเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย คาดดันเงินเฟ้อพุ่งต่อ เตือนผู้ประกอบการไทยจับตาผลกระทบใกล้ชิด

สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อหลายสำนักของสหรัฐฯว่า จากธนาคารสหรัฐฯ ได้ประสบปัญหาและล้มต่อเนื่องกัน ถึง 3 แห่ง โดยเริ่มจากวันที่ 8 มีนาคม ธนาคาร Silvergate ซึ่งเป็นธนาคารที่ดำเนินสินทรัพย์ดิจิทัลได้ประกาศเลิกกิจการเนื่องจากสภาวะขาลงและสถานการณ์ดอกเบี้ยสูง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ธนาคาร Silicon Valley หรือ SVB Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะตั้งอยู่ในเขต Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับที่ 17 ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญ กับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่เนื่องจากผู้ใช้บริการจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นและแห่มาถอนเงินฝาก หลังจากรับทราบสถานการณ์ทางการเงินของธนาคารที่ขาดทุนกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการขายพันธบัตรรัฐบาลในสถานการณ์ดอกเบี้ยสูงในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร หรือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) จึงได้ประกาศปิดกิจการธนาคาร SVB และเข้าควบคุมสินทรัพย์ ทั้งหมดของธนาคาร

การล่มของธนาคาร SVB ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและลูกค้าธนาคารในวงกว้าง ทำให้ลูกค้าธนาคารหลากหลายแห่งแห่ถอนเงินฝาก เทขายหุ้น ธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่ง อีกทั้งเปลี่ยนไปใช้บริการของธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้ธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่งของสหรัฐฯ ขาดสภาพคล่อง

ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคารจึงต้องประกาศปิด ธนาคาร Signature ซึ่งถือเป็น ธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมากอีกหนึ่งแห่งในวันที่ 12 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงต้องออกแถลงการณ์ร่วมประกาศว่าจะคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าธนาคาร SVB และ Signature แบบเต็มจำนวนไม่จำกัดที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่กฎหมายกำหนดในสถานการณ์ปกติ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศตั้งโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เงินกู้เพิ่มสภาพคล่องแก่ธนาคารในสหรัฐฯ เพิ่มความเชื่อมั่นของตลาดและป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มีนาคม ธนาคารเครดิตสวิส หรือ Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และมีอิทธิพลระดับต้น ๆ ในระบบการเงินโลก โดยหุ้นของธนาคารเครดิตสวิสได้ร่วงหนักกว่า 20% ทั้งนี้ ธนาคารเครดิตสวิส ได้มีปัญหาภายในมาสักระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้าวิกฤตการณ์ธนาคารสหรัฐฯ โดยธนาคารเครดิตสวิส มีความเสี่ยงที่ลูกค้าหลายรายจะผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารมีโอกาสที่จะล้มละลายสูง จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความกังวลต่อสภาวะทางการเงินของสหรัฐฯ และทั่วโลกเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสวิสได้ตัดสินใจเข้าอุ้มธนาคารเครดิตสวิส โดยให้กู้สูงถึง 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ธนาคาร UBS ซึ่งเป็น ธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ขนาดใหญ่อีกหนึ่งแห่งได้ประกาศเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิสแล้วด้วยเงินจำนวน 3,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกอบกู้เสถียรภาพทางการเงินและปกป้องเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ดีวิกฤตการณ์ธนาคารล้มในครั้งนี้ดูเหมือนจะยังไม่จบลง ธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่งของสหรัฐฯ เช่น ธนาคาร First Republic (ธนาคารที่ใหญ่อันดับที่ 15 ของสหรัฐฯ) ธนาคาร Huntington Bancshares (ธนาคารที่ ใหญ่อันดับที่ 22 ของสหรัฐฯ) และธนาคาร Truist Financial (ธนาคารที่ใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ) ยังคงประสบปัญหาลูกค้าแห่ถอนเงินฝาก ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

โดยในช่วงนี้ ธนาคาร First Republic น่าจับตามองมากที่สุด จากหุ้นของธนาคารดังกล่าวได้ร่วงลงจาก 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้นในวันที่ 8 มีนาคม สู่ 16.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน (ราคา ณ วันที่ 20 มีนาคม)

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ รวม 11 แห่ง เช่น Bank of America Citigroup JPMorgan Chase และ Wells Fargo ได้จับมือกันร่วมปล่อยกู้ให้กับธนาคาร First Republic รวมวงเงินจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารดังกล่าว

จากการสำรวจของ Bloomberg MLIV Pulse ซึ่งสำรวจนักวิเคราห์รวม 519 คน พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนมากได้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลดลงอย่างมาก และจะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Hard Landing) นักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ เช่น บริษัท Goldman Sachs ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แถลงปรับความน่าจะเป็นที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะถดถอยในปีนี้จาก 25% จากการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว เป็น 35% ภายหลังจากที่ธนาคารสหรัฐฯ ล้มติดต่อกันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ Goldman Sachs ได้ คาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ว่าจะโตขึ้นเพียง 1.2%

ส่วนนักวิเคราะห์ในกลุ่มที่ 2 เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเข้าสู่สถานการณ์ในรูปแบบ Soft Landing ได้ กล่าวคือ เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยลง แต่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรงมาก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ มองว่าวิกฤตธนาคารล้มในครั้งนี้ แตกต่างจากเมื่อปี 2551 เนื่องจากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองและออกมาตรการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว จำกัดผลกระทบและไม่กระจายไปในวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าในปัจจุบัน งบดุลของครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ครัวเรือนได้ชะลอการใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เหลือเงินส่วนเกินในการใช้จ่าย ช่วยลดความเสี่ยงที่ภาคครัวเรือนจะลดการบริโภคทั่วทั้งเศรษฐกิจ แตกต่างจากเมื่อปี 2551 ซึ่งหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยิ่งชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อสูงจะดำเนินต่อไป และส่งผลให้สหรัฐฯ เข้าสู่สถาวะ Stagflation หรือ สภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ราคาสินค้ายังคงสูงขึ้น

จากสถานการณ์ธนาคารล้มในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอน และไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลงเอยในรูปแบบของ Hard landing หรือ Soft Landing เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสสูงที่จะเติบโต น้อยลง นอกจากนี้วิกฤตธนาคารล้มในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสหรัฐฯ มีสภาพคล่องน้อยลง เนื่องจากธนาคารสหรัฐฯ จะปล่อยกู้ได้ยากขึ้น และสถานการณ์เงินเฟ้อจะยังคงสูง ก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด