เตือนสหรัฐเสี่ยงเจอ stagflation เหตุเฟดยั้งมือขึ้นดอกเบี้ย

07 เม.ย. 2566 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2566 | 06:25 น.
662

เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะ stagflation ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่งสูง จากคาดการณ์ที่ว่าเฟดอาจยั้งมือการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพ.ค. หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจที่แผ่วลง

 

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ต้นเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ มีความคาดหมายมากขึ้นว่า การประชุมครั้งนี้ เฟดอาจจะตัดสินใจ ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนแอ แต่ถ้าหากเฟดทำเช่นนั้น ก็อาจทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับ ภาวะ stagflation ซึ่งเป็นการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ เงินเฟ้อ และ ตัวเลขคนว่างงาน อยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ทำให้คาดว่าเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ย

"ขณะนี้ความกังวลอยู่ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องล่าถอย ก่อนที่จะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการทำสงครามกับเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เราเจอภาวะเลวร้ายที่สุด นั่นคือ เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะ stagflation ซึ่งเศรษฐกิจมีการหดตัว แต่ราคากลับพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายแดนนี ฮูว์สัน หัวหน้านักวิเคราะห์ของ AJ Bell กล่าว

ทั้งนี้ ตลาดมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจเพิ่มเติม มากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขตลาดแรงงานที่ซบเซา

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 46.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

 

"ขณะนี้ความกังวลอยู่ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องล่าถอย ก่อนที่จะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการทำสงครามกับเงินเฟ้อ"

ตัวเลขสำคัญจากตลาดแรงงาน

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนก.พ. 2566 พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.9 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2564 และต่ำกว่าระดับ 10 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ภาวะ stagflation เป็นสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อสูงหรือเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง และการว่างงานยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากการกระทำที่มุ่งเป้าไปที่การลดอัตราเงินเฟ้ออาจทำให้การว่างงานรุนแรงยิ่งขึ้น

แม้หลังการประชุมเฟดครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะยังคงกล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงแรงงานก็บ่งบอกถึงแนวโน้มที่น่ากังวล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง และมีหลากปัจจัยที่จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น