แนวโน้มไฟสงครามลุกโชนหลัง "สหรัฐ-เยอรมนี" เตรียมส่งรถถังให้ยูเครน

25 ม.ค. 2566 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 16:52 น.

สหรัฐ-เยอรมนี เตรียมส่งรถถังให้ยูเครนตามคำเรียกร้อง หวังทำลายแนวรบรัสเซียที่กำลังรุกหนักในยูเครน เผยรถถังสหรัฐคือ M1 Abrams ส่วนเยอรมนี Leopard 2 A6

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าววันนี้ (25 ม.ค.) ระบุ สหรัฐอเมริกา และ เยอรมนี เตรียมประกาศความพร้อมที่จะส่ง รถถัง ต่อสู้ข้าศึกให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็น การส่งมอบอาวุธใหม่ ที่ “ทรงอานุภาพล่าสุด” ให้แก่ยูเครนเพื่อใช้ตอบโต้รัสเซียและรับมือกับภัยคุกคามของประเทศพันธมิตรรัสเซีย

แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามเปิดเผยว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะประกาศในวันนี้ (25 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า สหรัฐจะส่งมอบ รถถัง M1 Abrams ให้แก่ยูเครน ขณะเดียวกันมีข่าวว่า เยอรมนีได้ตัดสินใจแล้วว่า จะส่ง รถถัง Leopard 2 A6 จำนวน 14 คันให้กับยูเครนหลังจากที่มีข่าวว่า เยอรมนีคิดหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้และทำให้การเสริมกำลังอาวุธให้ยูเครนเกิดความล่าช้าขณะที่ฝ่ายกองทัพรัสเซียเร่งรุกคืบและโจมตียูเครนอย่างหนัก

 

หวังมีชัยเหนือรัสเซียฤดูใบไม้ผลินี้

ทั้งนี้ การส่งมอบรถถังดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสู้รบให้กับกองกำลังทหารของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ขณะที่การสู้รบในยูเครนเปลี่ยนจากบริเวณใจกลางเมืองไปทางตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองกำลังทหารรัสเซียเข้ามาโจมตีตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา (2565)

 

ผู้นำยูเครนเรียกร้องชาติพันธมิตรตะวันตกเร่งส่งรถถังให้ยูเครนเพื่อทำลายแนวรุกของรัสเซีย

สหรัฐและเยอรมนีคาดหวังว่า รถถังเหล่านี้จะช่วยให้ยูเครนสามารถทำลายแนวรบของรัสเซีย และมีชัยในการสู้รบในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง หลังจากมีรายงานว่ารัสเซียอาจกำลังวางแผนโจมตีครั้งใหม่

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มีกำหนดเดินทางไปเยือนเยอรมนีในวันนี้ (25 ม.ค.) โดยมีกำหนดพบกับนายบอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ที่กรุงเบอร์ลิน

คาดว่าภารกิจการเดินทางไปเยอรมนีครั้งนี้ นายสโตลเทนเบิร์กมีเป้าหมายหารือกลาโหมเยอรมนีเพื่อคลี่คลายปัญหาจากการที่ชาติพันธมิตรในยุโรปยังคงไม่สามารถทำการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งรถถัง Leopard 2 ที่ผลิตโดยเยอรมนีไปยังยูเครน

ทั้งนี้ ยูเครนได้แสดงความต้องการให้ยุโรปส่งรถถังดังกล่าวให้ยูเครนโดยไวเพื่อเสริมสมรรถนะในการสู้รบกับกองกำลังรัสเซีย แต่ที่ผ่านมานั้น เยอรมนียังคงลังเลที่จะดำเนินการตามคำขอดังกล่าว โดยไม่ต้องการส่งรถถังโดยตรงจากเยอรมนี หรืออนุญาตให้ชาติอื่นส่งไปยังยูเครน เนื่องจากวิตกว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียซึ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนีอย่างมากโดยเฉพาะในด้านพลังงาน

การท้าทายที่อาจเร่งกดปุ่มสงครามนิวเคลียร์ 

ก่อนหน้านี้ นายวยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ซึ่งเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้เคยออกมาประกาศเตือนว่า การที่ชาติตะวันตกจัดหาอาวุธร้ายแรงให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนของรัสเซีย จะนำโลกไปสู่หายนะ

"หากสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกนาโตส่งอาวุธให้ยูเครนใช้ทำลายเมือง และพยายามยึดดินแดนของเราอย่างที่เคยมีการขู่ไว้ สิ่งนี้จะนำไปสู่มาตรการตอบโต้ด้วยอาวุธที่ทรงพลังยิ่งกว่า" คำขู่ของนายโวโลดิน ทำให้มีการตีความว่า รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์หากถูกท้าทาย

นายโวโลดินยังระบุด้วยว่า ข้อโต้แย้งที่ว่าประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่เคยใช้อาวุธทำลายล้างสูงในความขัดแย้งระดับท้องถิ่นนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากประเทศที่พูด ไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพลเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ