300 วัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งที่ยังห่างไกลการเจรจา ?

22 ธ.ค. 2565 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 18:34 น.

กว่า 300 วัน กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกยังคงจับตาความขัดแย้งครั้งนี้อย่างจดจ่อ คาดเดาไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร เเละอาจยังห่างไกลการเจรจา ?

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นเวลากว่า 300 วัน หลังจากที่ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน สั่งเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. จนลุกลามกลายเป็นการรุกรานดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร  

ปูติน ย้ำมาตลอดว่า ไม่เคยเสียใจ ที่สั่งกองทัพรัสเซียเปิดฉากทางทหารในยูเครน และอ้างว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลุกขึ้นสู้กับความก้าวร้าวของชาติตะวันตก ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปฏิบัติการพิเศษของรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายหมื่นคน นอกจากนี้จะเรียกว่าสงครามแล้วยังถือว่าเป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด โดยประชาชนต้องลี้ภัยออกจากยูเครนมากกว่า 6 ล้านคน  

 

แม้จะมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น แต่ประชาชนและรัฐบาลยูเครนก็พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และยังคงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญประจำปี อย่างเทศกาลคริสต์มาส เมื่อเร็วๆ นี้เราคงได้เห็นภาพ เทศกาลคริสต์มาสของกรุงเคียฟ

หากจะพูดว่าสงครามครั้งนี้ยังห่างไกลการเจรจาก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่าล่าสุด “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ผู้นำจีน ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และหันหน้าสู่การเจรจา รวมทั้งแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางการเมือง

 

ส่วนท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศก็เป็นที่น่าจับตาของทั่วโลกเช่นกัน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เป็นการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำยูเครน นับตั้งแต่เกิดสงครามกับรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  

 

เขากล่าวต่อสภาคองเกรส ว่างบช่วยเหลือคือการลงทุนในความมั่นคงโลก เเละขอบคุณชาวอเมริกันที่สนับสนุนยูเครน เขามั่นใจว่าชาวยูเครนจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน  ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ให้คำมั่นกับเซเลนสกีว่าสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยให้ยูเครนต่อสู้เพียงลำพัง

 

สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ ส่งมอบความช่วยเหลือ มนุษยธรรม การเงิน ความมั่นคงกับยูเครนไปแล้ว กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่เริ่มสงครามเมื่อราว 10 เดือนก่อน ขณะที่สภาคองเกรสมีแผนลงมติช่วยเหลือยูเครน รวมถึงความช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.575 แสนล้านบาทให้แก่ยูเครนอีกด้วย

 

โลกหวั่นใจว่าจะมีชาติที่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ รัสเซียอาจเปิดฉากบุกยูเครนอีกครั้ง เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาฝากฝั่งของผู้นำรัสเซียเดินทางไปพบ ผู้นำเบลารุส ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก พันธมิตรใกล้ชิดที่สุดในภูมิภาค หลังการพูดคุยผู้นำทั้งสองได้ลงนามความร่วมมือทางการทหารครั้งใหญ่ โดยก่อนหน้านั้นเบลารุส ให้รัสเซียเป็นฐานส่งทหารรัสเซียหลายหมื่นนายไปยูเครน อนุญาตนำเครื่องบินรบจอดในฐานทัพของเบลารุส

 

หากย้อนไปโดยสรุปจะพบว่า 300 วัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดอะไรขึ้นบ้าง 

24 ก.พ. ปูติน เปิดศึกทางทหารในยูเครน เสียงระเบิดดังสนั่นในกรุงเคียฟและอีกหลายเมือง ยูเครนสั่งปิดน่านฟ้า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตือนจะมีคนล้มตายจำนวนมากมาย

 

ระหว่างนั้นรัสเซีย ประกาศรับรองเอกราช แคว้นลูฮานสก์ และโดเนตสก์ ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งพื้นที่บางส่วนอยู่ในการปกครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย และยังคงมุ่งเป้าโจมตีภูมิภาคดอนบาสอย่างต่อเนื่อง ยึดเมืองของยูเครนในแคว้นลูฮานสก์ได้ คือ ซีวีโรโดเนตสก์ และลีซีชานสก์

 

รัสเซียบุกโจมตียูเครนจาก 3 ทิศทาง คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และอีกหลายเมือง ถูกโจมตี รัสเซียยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลไว้ รัสเซียยึดกรุงเคียพไม่สำเร็จเพราะเจอกับแรงต้านทาน  แต่ยึดเมืองเคอร์ซอนทางใต้ของยูเครนได้ซึ่งมีความสำคัญเป็นประตูสู่ไครเมีย คาบสมุทรที่รัสเซียผนวกเป็นของตนเองเมื่อปี 2014

 

ปลายเดือน มี.ค. รัสเซียถอนกำลังจากทางเหนือ เพื่อมุ่งเน้นการโจมตีไปยังตะวันออกของยูเครน จนต่อมารัสเซียประกาศถอนทหารจากคาร์คีฟ

 

ระหว่างนี้รัสเซียยึดเมืองมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญ ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากต่อรัสเซียเพราะช่วยเชื่อมต่อไครเมียเข้ากับพื้นที่ตะวันออก  เมืองมาริอูโปลเสียหายอย่างหนักมากกว่า 90%

 

ยูเครนเริ่มโต้กลับในเคอร์ซอนสามารถยึดคืนพื้นที่กลับมาได้หลายแห่ง นอกจากนี้ยังยึดเมืองลีมานกลับคืนมาได้สำเร็จ ลีมานมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อยูเครน หลังจากรัสเซียใช้เมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของแนวรบด่านหน้า

 

สิ่งที่เป็นผลตามมาคือ สินค้าอาหารและการเกษตรที่ราคาพุ่งสูงทั่วโลก เนื่องจากยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวันและน้ำมันดอกทานตะวัน อันดับต้น ๆ ของโลก  ขณะที่รัสเซียก็เป็นผู้ผลิตสารอาหารที่จำเป็นต่อการผลิตปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ยูเครนและรัสเซียลงนามข้อตกลงเปิดทางส่งออกธัญพืชหลายล้านตันจากท่าเรือทะเลดำที่ถูกปิดล้อม โดยมีองค์การสหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลาง ภายใต้ระเบียบข้อบังคับต่าง

 

แต่ก็ยังสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาคมโลกว่าอาจจะวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยนอกจากรัสเซียจะยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลไว้ในช่วงแรก ยังโจมตีโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียของยูเครน จนสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติกิจกรรมทางทหารในพื้นที่เสี่ยง

 

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกังวลว่าในช่วงฤดูหนาว "เกมรบ" อาจเปลี่ยนไป อาจเน้นการใช้ขีปนาวุธโจมตีมากกว่าการบุกภาคพื้นดิน ซึ่งก่อนหน้านี้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ระบุว่า  ปูติน ตั้งใจจะใช้ฤดูหนาวเป็นเครื่องมือชิงความได้เปรียบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งการรบ การสร้างภัยคุกคามต่อชีวิตของประชาชนชาวยูเครนด้วย