คาดการณ์แบงก์ชาติในเอเชีย เริ่มยุติวงจรขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 1/66

13 ม.ค. 2566 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2566 | 22:37 น.

โพลบลูมเบิร์กชี้ ธนาคารกลางในเอเชีย รวมถึงแบงก์ชาติไทย มีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมเงินเฟ้อ และจะยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังขึ้นอีกครั้งในไตรมาสนี้

 

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก บ่งชี้ว่า ธนาคารกลาง ใน ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะทำให้ธนาคารกลางเหล่านี้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากการปรับขึ้นประมาณ 0.25-0.50% ในไตรมาสนี้


นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจดังกล่าวคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของไทย (ธปท.) ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 0.50% ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ก่อนที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้น

 

ขณะเดียวกันคาดว่าธนาคารกลางมาเลเซียจะยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ปรับขึ้น 0.25% อีก 1 ครั้ง


ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงิน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสแรกของปีนี้

 

นักวิเคราะห์คาดว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระเบียบแบบแผน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัจจัยใด ๆ ที่จะทำให้การฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณเมื่อไม่นานมานี้ว่า การยุติวงจรของนโยบายคุมเข้มทางการเงินอาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออยู่ในจุดที่มีความสมดุล


นายเอนริโก ทานูวิดจาจา นักวิเคราะห์จากพีที แบงก์ ยูโอบี อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้น 0.75% ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ยังคงอยู่ในสถานะที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก ทั้งนี้ การประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปของธปท.จะมีขึ้นในวันที่ 25 ม.ค.


สำหรับธนาคารกลางอินโดนีเซียนั้น นักวิเคราะห์คาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว


 "เมื่อพิจารณาจากการจัดการเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี และการที่เฟดส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) จะอยู่ที่ 5% ทำให้เราคาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6% ในช่วงเวลาหนึ่ง หากความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน" โจชัว พาร์ดีด นักวิเคราะห์จากพีที แบงก์ เพอร์มาทากล่าว โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียมีกำหนดประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19 ม.ค.นี้