'จิมมี ไล – แจ็ค หม่า' 2 คนดังดวงตก หลังปากเป็นพิษวิพากษ์รัฐบาลจีน

11 ธ.ค. 2565 | 16:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 00:06 น.
1.9 k

'จิมมี ไล’ เจ้าพ่อสื่อฮ่องกง ที่ยืนหยัดวิพากษ์รัฐบาลจีน ถูกตัดสินลงโทษเพิ่มเติมวานนี้ (10 ธ.ค.) เจอคุกอีกเกือบ 6 ปี ชะตากรรมของเขาคลับคล้าย ‘แจ็ค หม่า’ ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่ระเห็จไปอยู่ต่างแดน เซ่นปมวิจารณ์ระบบการเงินภาครัฐ

 

เส้นทางชีวิต นายจิมมี ไล (Jimmy Lai) วัย 75 ปี ที่หล่นตุบจากสถานะมหาเศรษฐีเจ้าพ่อวงการสื่อของฮ่องกง กลายมาเป็นนักโทษในเรือนจำ หลังแสดงบทบาทและแนวคิดทางการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้หลายคนอดคิดถึง นายแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีคนดังชาวจีนอีกคนไม่ได้ เพราะชะตากรรมของบุคคลทั้งสองมาในวิถีเดียวกัน คือชีวิตผกผันหลังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

 

โดยแจ็คหม่า ต้องลดบทบาททางธุรกิจของตัวเองเกือบทั้งหมดในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา และปัจจุบันก็มีข่าวว่าเขาหลีกลี้แรงกดดันที่พบเจอในบ้านเกิดของตัวเองไปพำนักที่ญี่ปุ่นหลายเดือนแล้ว หลังจากในปี 2020 (พ.ศ.2563) แจ็ค หม่า ได้เปิดปากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเงินการคลังและ เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินของรัฐบาลจีน นับจากนั้นมา ธุรกิจของเขาก็ตกเป็นเป้าการสอดส่อง สอบสวน และถูกจำกัดขนาด รวมทั้งการสกัดกั้นการขยายช่องทางการลงทุน

 

ในมุมมองของหลายคน มหาเศรษฐีทั้งสองคือ ‘คนกล้า’ ที่แสดงจุดยืนต่อต้านท้าทายอำนาจรัฐ แต่ผลที่ตามมาก็ต้องยอมรับว่าหนักหน่วงแสนสาหัส และทำให้ชีวิตของทั้งคู่ต้องพลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เรามาย้อนดูเส้นทางความพลิกผันของ ‘จิมมี ไล’ และ ‘แจ็ค หม่า’ ไปด้วยกัน

จิมมี ไล นักวิจารณ์รัฐบาลจีนตัวยง

 

‘จิมมี ไล’ เจ้าพ่อสื่อ นักเรียกร้องประชาธิปไตย - คุก 7 ปี 4 เดือน

จิมมี ไล เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1947 ปัจจุบันอายุ 75 ปี เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในฮ่องกง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จีออร์ดาโน เจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์เนมชื่อดังที่ชาวไทยรู้จักกันดี นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เน็กซท์ดิจิทัล (Next Digital) บริษัทสื่อในตลาดหุ้นฮ่องกง และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ แอปเปิลเดลี ซึ่งปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว  

 

นอกจากบทบาทในโลกธุรกิจ จิมมี ไล ยังเป็นนักวิจารณ์รัฐบาลจีนตัวยง เขาเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมหลักของคณะเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง และพรรคเดโมแครตของฮ่องกง ไลได้รับสถานะพลเมืองของสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่ปี 1996 แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เขาหนีพ้นชะตากรรมที่มีจุดพลิกผันในปี 2020

 

จิมมี ไล ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2020  (พ.ศ. 2563) ฐานกระทำความผิดละเมิดกฎหมายความมั่นคงของรัฐฉบับใหม่ (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกประณามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากถูกมองว่าพุ่งเป้ากำราบและกำจัดกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง)

 

เขาได้รับการประกันตัวสองวันให้หลัง (12 ส.ค.) แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมปีเดียวกัน ก็ถูกจับกุมฐานฉ้อโกงและห้ามประกันตัว จิมมี ไล ถูกตัดสินจำคุกถึงเมษายน 2021 และเป็นครั้งแรกที่เขาถูกคุมขัง ไลเคยกล่าวผ่านสื่อว่า ชีวิตในคุกของเขาเป็น "จุดสูงสุดของชีวิต"

 

เดือนธันวาคม 2020 จิมมี ไล ได้รับรางวัล "เสรีภาพสื่อ" โดยสมาคมนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ในฐานะผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี สื่อที่ยืนหยัดวิจารณ์รัฐบาลจีนท่ามกลางการข่มขู่และแรงกดดัน

 

เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการและประธานบอร์ดของเน็กซท์ดิจิทัล บริษัทสื่อของเขาซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น

 

ความโชคร้ายยังไม่สิ้นสุดเมื่อต่อมาในเดือนเมษายน 2021 ซึ่งครบกำหนดการคุมขังรอบแรก ไม่นานหลังจากนั้น เขาถูกตัดสินจำคุกอีก 14 เดือน ภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ฐานมีส่วนร่วมจัดชุมนุมผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2019 (พ.ศ.2562) ระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

 

หลังจากถูกคุมขังตั้งแต่เดือนธ.ค. 2020 (พ.ศ.2563) เป็นต้นมา นับเป็นเวลา 20 เดือนแล้ว ล่าสุดวานนี้ (10 ธ.ค.2565) จิมมี ไล ถูกตัดสินโทษจำคุกอีก 5 ปี 9 เดือน ในข้อหาฉ้อโกง มีความผิดฐานละเมิดสัญญาเช่าที่ดินสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลีที่เขาเคยบริหาร แต่ปิดตัวลงแล้วตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 หลังถูกตำรวจบุกค้นสำนักงาน

 

นอกจากนี้ นายหว่อง ไว-เคียง วัย 61 ปี ผู้บริหารอีกรายของเน็กซ์ ดิจิทัล ก็ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงด้วยเช่นกัน และต้องโทษจำคุก 21 เดือน

 

นายสแตนลีย์ ชาน ผู้พิพากษาศาลแขวงของฮ่องกง ระบุในคำพิพากษาว่า นายไลกระทำการภายใต้การคุ้มครองขององค์กรสื่อ และการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการสื่อรายนี้ "ไม่ใช่การโจมตีเสรีภาพสื่อ"

 

ผู้พิพากษาได้ลดหย่อนโทษจำคุกให้นายไล 3 เดือน เนื่องจากเขายอมรับผิดในการดำเนินคดีส่วนใหญ่ของอัยการ แต่ศาลได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้นายไลเป็นกรรมการของบริษัทใด ๆ เป็นเวลา 8 ปี และสั่งปรับเขาเป็นเงิน 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (260,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ทนายของเขา ขอให้ผู้พิพากษาพิจารณาถึงอายุของนายไล และการมีส่วนร่วมของเขาในการปลุกปั้นอุตสาหกรรมสื่อของฮ่องกง

 

การที่มหาเศรษฐีเจ้าพ่อสื่ออย่างไลถูกออกหมายจับซ้ำๆ เพิ่มโทษซ้อนๆหลายครั้ง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโลกตะวันตกและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกรงว่าฮ่องกงกำลังถูกลิดรอนเสรีภาพลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเสรีภาพในด้านการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติ

 

วิบากอีกระลอกกำลังจะตามมาเพราะ จิมมี ไล มี อีกคดีเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ มีกำหนดจะกลับมาดำเนินการต่อในวันอังคารที่ 13 ธ.ค.นี้ โดยการพิจารณาคดีดังกล่าวมีความล่าช้า ขณะที่จีนตัดสินใจในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงว่าควรอนุญาตให้ทนายความต่างชาติ รวมถึงนายทิโมธี โอเว่น ทนายความชาวอังกฤษของนายไล สามารถเข้าร่วมทำงานในคดีด้านความมั่นคงของชาติของจีนหรือไม่

 

มายา หวัง ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียจากกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ในนิวยอร์ก เรียกร้องให้ทางการฮ่องกงปล่อยตัวนายไล โดยระบุว่า การที่จีนดำเนินคดีอาญาต่อนายจิมมี ไล เป็นเพียงความอาฆาตแค้นต่อผู้สนับสนุนหลักด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อในฮ่องกงเท่านั้น

 

\'จิมมี ไล – แจ็ค หม่า\' 2 คนดังดวงตก หลังปากเป็นพิษวิพากษ์รัฐบาลจีน

 

แจ็ค หม่า ถูกเตะตัดขาทางธุรกิจ ชีวิตพลิกผันระเห็จไปต่างแดน

หลายคนรู้จัก แจ็ค หม่า ในฐานะมหาเศรษฐีนักธุรกิจที่สร้างตัวจากศูนย์ สู่การเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจใหญ่อย่าง “อาลีบาบา” (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซ ที่โด่งดังไกลระดับโลกหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในเดือน ก.ย. 2014 บริษัทระดมทุนได้กว่า 25,000 ล้านดอลลาร์จากการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ที่ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐ

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อาลีบาบา กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าทรัพสินย์มากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น และแจ็ค หม่า เอง ก็พุ่งขึ้นสู่อันดับมหาเศรษฐีโลก และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนด้วยทรัพย์สินกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์  มีการขยายธุรกิจสู่วงการค้าปลีกที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยี และวงการฟินเทค

 

เขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดยุคหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ ในปี 2009 แจ็ค หม่า ได้รับการคัดเลือกโดยนิตยสารไทม์ให้เป็น 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และอาลีบาบาเอง ก็ได้เป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกและแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

 

เส้นทางชีวิตที่น่าจะไปได้ดี เริ่มสะดุดแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่แดเนียล ชาง ขึ้นมาเป็นซีอีโอของอาลีบาบา แจ็ค หม่า ก็ได้ลาออกจากบอร์ดบริหารอาลีบาบาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2020 จากนั้นวันที่ 24 ต.ค. ปีเดียวกัน แจ็ค หม่า ก็มีปัญหากับรัฐบาลหลังจากที่เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเงินของจีน ทำให้รัฐบาลไม่พอใจเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้น เขาก็ลดบทบาทของตัวเอง และหายหน้าไปจากการเป็นข่าวทางสื่อต่าง ๆ กว่า 3 เดือน (ระหว่างเดือน ต.ค. 2020 – ม.ค. 2021) กระทั่งมีข่าวว่าเขาหายไปไหน ถูกทางการอุ้มไปหรือไม่ แต่สุดท้าย นายหม่าก็เริ่มปรากฏตัวให้เห็นบ้างแต่ไม่บ่อยนัก ต่อมาเขายังถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีนอีกด้วย

 

โชคชะตายังไม่ได้พาเขาเข้าสู่คุกเหมือนกรณีจิมมี ไล

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของแจ็ค หม่า หลังจากนั้นก็ถือว่าหนักหน่วงไม่แพ้กัน อาลีบาบาถูกตรวจสอบจากทางการอย่างเข้มข้นในข้อหาการละเมิดการผูกขาดการค้าในจีน ทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าปรับกว่า 2,750 ล้านดอลลาร์ และราคาหุ้นบริษัทก็ร่วงลงคิดเป็นมูลค่าเกือบ 76,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์ที่ทำให้ไม่สามารถขยายขอบเขตธุรกิจออกนอกแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ย่ำแย่กว่านั้นคือ แผนการทำไอพีโอ (การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก) ที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของ ‘แอนท์กรุ๊ป’ บริษัทในเครืออาลีบาบา ซึ่งตอนแรกถูกคาดหวังว่าจะเป็นการทำไอพีโอที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2020 ( ณ ขณะนั้น มีการคาดหมายว่าบริษัทจะระดมทุนจากการขายหุ้นได้ถึง 35,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท) ได้ถูกทางการจีนสั่งห้าม ถือเป็นการดับฝันกลางอากาศอย่างสิ้นเชิง

 

ราคาหุ้นของอาลีบาบา ขึ้นๆลงๆ หลังจากนั้น ตามข่าวที่เกี่ยวกับแจ็ค หม่า ยกตัวอย่างล่าสุด วันที่ 3 พ.ค.ปีนี้ (2022) พอมีข่าวทางการจับกุมตัว “ชายคนหนึ่งแซ่หม่า” ที่เมืองหางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักใหญ่อาลีบาบา โดยผู้ต้องสงสัยรายนี้ถูกจับฐานสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่อต้านจีน นักลงทุนก็พากัน "ตีความ" ว่า ชายแซ่หม่าในข่าวน่าจะเป็นแจ็ค หม่า ทำให้เกิดการเทขายหุ้นอาลีบาบา จนราคาหุ้นร่วงถึง -9.4% สูญมูลค่าหุ้นไปกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ยังโชคดีที่มีข่าวตามมาในวันเดียวกันนั้นว่า ชายคนดังกล่าวไม่ใช่แจ็ค หม่า หุ้นอาลีบาบาจึงดีดกลับขึ้นมา

 

กรณีของแจ็ค หม่า ถึงแม้ว่าโชคชะตาจะไม่ได้ลากเขาเข้าสู่คุกตะรางเหมือนจิมมี ไล แต่ก็เห็นชัดว่า ชีวิตพลิกผันหนักจนไม่อาจกลับมายิ่งใหญ่ได้เช่นเดิม ล่าสุดสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า เขาเดินทางออกจากจีนไปพำนักอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด