ปรับใหญ่ทวิตเตอร์ 'อีลอน มัสก์' จ่อนั่ง CEO หลังปิดดีลซื้อกิจการ

28 ต.ค. 2565 | 13:26 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 21:08 น.

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก จ่อขึ้นแท่น CEO ทวิตเตอร์ หลังจบดีลการซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ (ราว1.6 ล้านล้านบาท) คืนวานนี้ (27 ต.ค.) เป็นอันจบดีลที่เจรจายาวนานและใกล้จะล่มมาครั้งหนึ่งแล้ว งานนี้มีการปรับใหญ่และปลดผู้บริหารทันที 3 คน

 

นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ซื้อกิจการทวิตเตอร์ มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท สำเร็จลุล่วงแล้วเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ต.ค.) ซึ่งภารกิจแรกหลังจากนั้นของนายมัสก์ ก็คือ การปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร ของทวิตเตอร์ ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองซานฟรานซิสโก

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า นายมัสก์มีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ซีอีโอของทวิตเตอร์ แทนนายปารัก อักราวัล ซึ่งถูกนายมัสก์ปลดออกจากตำแหน่งซีอีโอไปพร้อมกับผู้บริหารคนอื่น ๆ หลังจากเข้าเทกโอเวอร์กิจการครั้งนี้ 


แหล่งข่าวคาดว่า นายมัสก์จะดำรงตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์เป็นการชั่วคราว แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เขาอาจจะสละตำแหน่งดังกล่าวในระยะยาว 

 

นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ได้เป็นเจ้าของกิจการทวิตเตอร์แล้ว

 

ทั้งนี้ นายอีลอน มัสก์ ได้สั่งปลด 3 ผู้บริหารฝ่ายทวิตเตอร์ทันที ประกอบด้วย

  • นายปารัก อะกราวาล ซีอีโอทวิตเตอร์
  • นายเน็ด ซีกัล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน
  • นายวิจายา แกดเด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและนโยบาย

โดยนายมัสก์อ้างว่า บุคคลทั้ง 3 จงใจทำให้เขาและผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์เข้าใจผิดเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า นายมัสก์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (โดยการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index) มีสิทธิอันชอบธรรมในการควบคุมกิจการของทวิตเตอร์อย่างเต็มที่ หลังจากที่เผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงข้อกฎหมายและการโต้แย้งสาธารณะเป็นเวลานานถึง 6 เดือน

 

ข่าวระบุว่า นายมัสก์จะจ่ายเงินให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์ในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ และขณะนี้ทวิตเตอร์จะดำเนินงานในฐานะบริษัทเอกชน

 

การเข้าครอบครองกิจการทวิตเตอร์ของนายอีลอน มัสก์ จะส่งผลให้การดำเนินงานของทวิตเตอร์สะดุดลงในทันที ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไอเดียต่าง ๆ ของนายมัสก์ที่จะเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์นั้นขัดแย้งกับวิธีการดำเนินงานของบริษัทที่ใช้มายาวนานหลายปี

 

สื่อต่างประเทศรวมทั้งรอยเตอร์รายงานว่า นายมัสก์ต้องการจะเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ให้กลายเป็นชุมชนออนไลน์ที่เสมือนกับจัตุรัสกลางเมืองดิจิทัลสาธารณะ ที่ซึ่งประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกัน สามารถมาถกเถียงกันได้อย่างสันติโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ เขาไม่ต้องการให้ทวิตเตอร์ตกต่ำลงจนกลายเป็นแดนเถื่อนที่ใครจะพูดอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา

 

อาณาจักรธุรกิจของอีลอน มัสก์ขยายใหญ่ขึ้นอีกเมื่อมีทวิตเตอร์เข้ามาเสริม

 

ก่อนหน้านี้ นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเทสลา อิงค์ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเทสลา ได้เคยเปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า การซื้อทวิตเตอร์คือการ "เร่งสร้างเอ็กซ์ (X) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง" แต่นายมัสก์ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนายอีลอน มัสก์ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เขากำลังพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "ซูเปอร์แอป" (Super App) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศจีนและพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชีย โดยมีบริษัทเทนเซ็นต์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเป็นผู้บุกเบิก จนแอปพลิเคชัน "วีแชต" (WeChat) ได้กลายมาเป็นซูเปอร์แอปรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านราย

 

"ซูเปอร์แอป" นั้น เป็นนิยามที่ใช้อธิบายถึงแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้แบบ "ครบวงจร" บนโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ใช้เรียกรถแท็กซี่ หรือสั่งอาหาร ไปจนถึงชำระเงินและส่งข้อความ ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเปิดหลายแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ เขายังเคยเอ่ยชื่นชมวีแชตว่าเป็นแอปที่ "ยอดเยี่ยม" เมื่อครั้งพบปะกับพนักงานทวิตเตอร์ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุเสริมว่า ไม่มีแอปใดนอกประเทศจีนที่จะเทียบเท่ากับวีแชต

 

นายมัสก์ยังระบุด้วยว่า เขาต้องการให้มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์อย่างน้อย 1,000 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 237.8 ล้านรายในช่วงสิ้นไตรมาส 2/2565