“สี จิ้นผิง” พญามังกรที่ทรงอำนาจมากที่สุดหลังยุคสมัยของเหมา เจ๋อตุง

24 ต.ค. 2565 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 15:59 น.
1.3 k

"สี จิ้นผิง" รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2565 ซึ่งการเป็นผู้นำติดต่อกันถึง 3 สมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กล่าวกันว่านี่คือการปูทางสู่การเป็น "ผู้นำตลอดชีพ" ของสี จิ้นผิง

หลังเสร็จสิ้น การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค.2565 ถัดมา 1 วัน (อาทิตย์ที่ 23 ต.ค.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนวัย 69 ปี ก็เปิดตัวคณะกรรมการกลางประจำกรมการเมือง หรือ Politburo Standing Committee ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ต่อสาธารณชน พร้อมรับการมอบตำแหน่งประธานาธิบดีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ

 

เหตุการณ์สำคัญนี้เกิดขึ้นที่มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน การได้เป็นประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ ทำให้ “สี จิ้นผิง” กลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในรอบหลายทศวรรษ และเป็นผู้นำคนแรกของจีนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 2 สมัย ท่ามกลางการคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีสีพยายามที่จะครองตำแหน่งผู้นำจีนไปจนตลอดชีวิต

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน รับตำแหน่งเป็นสมัยที่3 อย่างเป็นทางการแล้ว (ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวซินหัว)

สำหรับ คณะกรรมการกลางประจำกรมการเมืองชุดใหม่ ซึ่งมีจำนวน 7 คน รวมทั้งปธน.สี จิ้นผิงด้วย ที่เหลืออีก 6 คนล้วนเป็น “กลุ่มพันธมิตร” ของเขาที่ร่วมงานกันมายาวนานและเป็นที่ไว้วางใจ ประกอบด้วย

  • นายหลี่ เฉียง (Li Qiang) วัย 63 ปี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนที่ นายหลี่ เค่อ เฉียง (Li Keqiang) ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า (2566)
  • นายจ้าว เล่อจี้ (Zhao Leiji) วัย 65 ปี ผู้นำมณฑลชิงไห่ ได้ชื่อว่าเป็นหัวหอกในการต่อต้านการรับสินบนและปราบปรามการทุจริต ที่ช่วยกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองของสี จิ้นผิงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • นายหวัง ฮู่หนิง (Wang Huning) วัย 67 ปี อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยฟูตัน หนึ่งในผู้มีอุดมการณ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพรรค สร้างคติพจน์ที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับผู้นำมาแล้ว 3 คน ล่าสุดเขาเป็นผู้นำสำนักเลขาธิการกลาง ช่วยขับเคลื่อนโยบายต่าง ๆ ของพรรค
  • นายไช่ ฉี (Cai Qi) วัย 66 ปี อดีตรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำจังหวัดฟูเจี้ยน เขานับเป็นหนึ่งในขุนพลของสี จิ้นผิง ที่ทำงานด้วยกันมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเป็นผู้บริหารระดับมณฑล ไช่ ฉีได้รับการโปรโมทให้เข้ามาทำงานส่วนกลางด้านความมั่นคงในกรุงปักกิ่ง ต่อมาก็ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งในระดับเลขาธิการพรรคประจำมณฑล ได้รับผิดชอบเป็นแม่งานในการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 และยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของกรุงปักกิ่งด้วย

 

  • นายติง เซวียเสียง (Ding Xuexiang) วัย 60 ปี เป็นหัวหน้าคณะทำงานโดยพฤตินัยของสี จิ้นผิง เขามักจะอยู่เคียงข้างปธน.สีในการเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ บุคลิกเงียบ ๆของเขา ช่วยให้ติงเป็นพันธมิตรที่น่าไว้ใจสำหรับสี จิ้นผิง ที่ผ่านมาติงได้เลื่อนตำแหน่งอย่างก้าวกระโดด จากสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคอมมิวนิสต์ สู่สมาชิกโปลิตบูโรครั้งล่าสุด
  • นายหลี่ ซี (Li Xi) วัย 66 ปี เจ้าหน้าที่สูงสุดของมณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับความไว้วางใจในการปฏิรูปมลฑลแห่งนี้จากที่เคยเป็นมณฑลที่รุมเร้าด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและการซื้อเสียง

 

 

ในวันรับตำแหน่งสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการวานนี้ (23 ต.ค.) ปธน.สี จิ้นผิง ได้กล่าวขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์ที่ให้ความไว้วางใจต่อเขา พร้อมสัญญาว่าจะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนจีน และเขาจะผลักดันการสร้างให้จีนเป็นสังคมนิยมสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า นานาชาติได้ติดตามการประชุมครั้งนี้ด้วยผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ และผู้นำของชาติต่าง ๆ ได้ส่งข้อความแสดงความยินดี ซึ่งเขาเองก็ได้กล่าวขอบคุณผู้นำชาติต่าง ๆ บนเวทีนี้ด้วย

 

นักวิชาการด้านการเมืองในปักกิ่งรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อ กล่าวว่า ดูจากรูปการณ์แล้ว สี จิ้นผิง มีอิสระที่จะทำทุกอย่างที่ต้องการ หมายความว่าเขาจะไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านหรือการตรวจสอบและถ่วงดุลในคณะกรรมการประจำอีกต่อไป นโยบายในอนาคตทั้งหมดจะดำเนินการตามความประสงค์ของเขา

การแก้ไขธรรมนูญของพรรคฯ มอบอำนาจให้สี จิ้นผิง อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การอนุมัติแก้ไขธรรมนูญของพรรคในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 20 นี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสถานะหลักของสี จิ้นผิง และบทบาทชี้นำความคิดทางการเมืองของเขาภายในพรรค ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 96 ล้านคน มติสำคัญในการแก้ไขธรรมนูญมี 2 ข้อกำหนดคือ 1) กำหนดให้สี จิ้นผิง เป็นผู้นำ “แกนกลาง” ของพรรค และ 2) อุดมการณ์ของสี จิ้นผิง คือหลักการพื้นฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคตของจีน ทั้ง 2 ข้อนี้นับเป็นการรับรองสถานะ “แกนกลาง” ของสี จิ้นผิง ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และอำนาจรวมศูนย์ของพรรคต่อประเทศจีน

 

ในปี 2018 หลักการว่าด้วย "แนวคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมและอัตลักษณ์ความเป็นจีนในยุคสมัยใหม่" ได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญของจีน แม้จะฟังดูเป็นหลักการที่ยืดยาว จับต้องได้ยาก แต่การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ตั้งตามชื่อนายสี เสมือนเป็นการจารึกคุณูปการของเขาในหน้าประวัติศาสตร์ของจีนด้วย ซึ่งก่อนหน้าสี จิ้นผิง มีเพียงบุคคลเดียวที่แนวคิดของเขาได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญของจีน นั่นคือ ประธานเหมา เจ๋อตุง

 

แม้แต่นายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ได้ชื่อว่าสถาปนิกผู้นำจีนสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ ก็ทำได้เพียงแค่การตั้งชื่อ "ทฤษฎี" ด้วยชื่อตนเองเท่านั้น และถ้าจะให้เห็นชัดขึ้น ผู้นำจีนคนก่อนหน้าสี คือ เจียง เจ๋อหมิน และหู จินเทา ก็ไม่มีทฤษฎีใด ๆ ที่ยึดโยงหรือตั้งตามชื่อของพวกเขาเลย

 

"แนวคิดของสี มีเป้าหมายเพื่อเสริมความชอบธรรมและอำนาจของเขาเหนือทุกคนในพรรคและประเทศ มันเป็นลัทธิบูชาบุคคลที่ยึดโยงกับสี ไม่ใช่แค่เหมา และเหล่าจักรพรรดิที่เกรียงไกรของจีนในยุคก่อนๆ อีกต่อไปแล้ว" ฌอง-ปิแอร์ คาเบสแตน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแบบติสต์ในฮ่องกง ได้กล่าวเอาไว้

 

เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้เผยแผนที่จะส่งเสริมให้ "แนวคิดของสี จิ้นผิง" เป็นหลักสูตรการศึกษาระดับประเทศ และก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2019 มีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันชื่อ Xuexi Qiangguo ซึ่งแปลได้ว่า "เรียนรู้จากสี เสริมสร้างชาติ" ซึ่งทำเป็นลักษณะเกมตอบคำถามที่เกี่ยวกับแนวคิดของสี จิ้นผิง

 

นายแอนดรูว์ นาธาน ศาสตราจารย์ด้านรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สี จิ้นผิง เชื่อว่า เขามีหลักการที่ถูกต้องแล้ว และทุกคนต้องยอมรับ "เมื่อใดก็ตามที่ประธานเหมาบัญญัตินโยบาย ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ในยุคของสี ก็เช่นกัน"

 

ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวซินหัว