ยูเครนเตือนมหันตภัย จวกกองทัพรัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์

08 ส.ค. 2565 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 22:48 น.

รัฐบาลยูเครนกล่าวหารัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาปอริซห์เซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยระบุว่า รัสเซียกำลังใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้ายทางนิวเคลียร์"

นายโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ระบุในทวิตเตอร์ว่า ประชาคมโลกจำเป็นต้องตอบโต้อย่างรุนแรงขึ้นต่อการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการลงโทษอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของรัสเซียด้วย

 

“กองทัพรัสเซียระเบิดทำลายอุปกรณ์ตรวจจับกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเมื่อคืนวันเสาร์ (6 ส.ค.)และทำให้มีคนงานบาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งคน”

 

การกล่าวหาครั้งนี้เกิดขึ้นหลังกองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเครนทำงานที่โรงงานดังกล่าว และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5 ส.ค.) รัสเซียกล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ด้วยระบบยิงจรวดอูรากัน (Uragan) สร้างความเสียหายให้กับอาคารบางส่วนที่ใช้กักเก็บนิวเคลียร์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย

ทางด้าน บริษัทเอเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครน เปิดเผยสอดคล้องกับทางการยูเครนว่า รัสเซียได้ยิงจรวดโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันเสาร์ ซึ่งรวมถึงโรงกักเก็บที่มีถังบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 174 ถังเก็บอยู่ด้านใน แต่ยังไม่มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลแต่อย่างใด

 

ขณะที่ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) กล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวอาจทำให้เกิด “หายนะด้านนิวเคลียร์” ขึ้นได้

 

เจ้าหน้าที่ของยูเครนเปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าซาปอริซห์เซียเป็นโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก หากถูกใช้เป็นเป้าโจมตี และเกิดระเบิดขึ้นหรือมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะคาดเดาความเสียหาย

โรงไฟฟ้าซาปอริซห์เซีย เป็นโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแอแนร์ฮอดาร์ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ตัวโรงงานใกล้กับแม่น้ำนีเปอร์ มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 เครื่อง เริ่มผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปีค.ศ. 1984 โดย มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ 4-4.2 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 20-25% ของการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีในยูเครน และคิดเป็นเกือบ 47% ของไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นโดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนทั้งหมด

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีมาตรฐานและความสามารถในการตรวจสอบรังสีอย่างต่อเนื่อง การป้องกันด้านสุขอนามัย และเขตควบคุมรังสี 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีห้องเก็บของแห้งสำหรับเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว

 

นับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียเริ่มบุกรุกรานยูเครนแล้ว เครื่องปฏิกรณ์ที่ 1 ถึง 4 ยังคงทำงานปกติ แต่เครื่องปฏิกรณ์ที่ 5 และ 6 หยุดทำงานชั่วคราวเพื่อปรับปรุง และในต่อมาก็มีรายงานว่า กองกำลังรัสเซียที่อยู่ทางใต้จากบริเวณไครเมีย ได้เคลื่อนพลขึ้นเหนือ มุ่งหน้ามายังโรงไฟฟ้าซาปอริซห์เซีย

 

กระทั่งวันที่ 28 ก.พ. 2565 กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่าสามารถยึดเมืองแอแนร์ฮอดาร์และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวได้แล้ว แต่นายดมิทรี ออร์ลอฟ นายกเทศมนตรีปฏิเสธว่าคำกล่าวอ้างของรัสเซียไม่เป็นความจริง

 

จนช่วงดึกของวันที่ 3 มี.ค. มีรายงานว่าโรงไฟฟ้าถูกโจมตี เกิดเพลิงไหม้ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ บางรายงานบอกว่าไฟไหม้ในจุดที่ใกล้กับเครื่องปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งที่ปิดปรับปรุงอยู่

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ออกมาประณามรัสเซียและเตือนว่า การโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซียอาจนำไปสู่หายนะ เพราะเมื่อครั้งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี1986 นั้นเป็นการระเบิดของปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 เพียงเครื่องเดียว ซึ่งได้ทำให้อาคารโรงงานระเบิดเป็นเสี่ยง และมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจำนวนมาก แต่หากเครื่องปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของโรงงานไฟฟ้าซาปอริซห์เซียระเบิด คาดว่าหายนะจะรุนแรงกว่านั้นถึง 6 เท่า

 

ขณะที่ด้านนายดมิโทร คูเบลา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน เตือนว่า หากโรงไฟฟ้าซาปอริซห์เซียระเบิด ผลกระทบอาจมากกว่าภัยพิบัติเชอร์โนบิลถึง 10 เท่า

 

ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า ทำไมจึงมีการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย แต่นักวิเคราะห์ก็ให้เหตุผลว่า ผู้ก่อเหตุ หากไม่ใช่ต้องการสร้างหายนะจากกัมมันตรังสี ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการควบคุมแหล่งพลังงานไฟฟ้าของยูเครน เพราะโรงไฟฟ้าซาปอริซห์เซียนี้ ผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 20-25% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในยูเครน หากสามารถยึดควบคุมไว้ได้ ก็จะส่งผลกับยูเครนอย่างใหญ่หลวง

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากฝ่ายยูเครนและรัสเซียนั้นยังคงย้อนแย้งกันอยู่ ขณะเดียวกัน ปธน.เซเลนสกีแห่งยูเครน ยังได้กล่าวเมื่อวันเสาร์ (6 ส.ค.) ประณามรายงานของ องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ Amnesty International ที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กองกำลังยูเครนได้ทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง จากการที่กองทัพได้เข้าไปจัดตั้งฐานบัญชาการ และฐานยิงจรวดในเขตชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น รวมทั้งบริเวณใกล้โรงเรียนและโรงพยาบาลต่าง ๆ

 

โดยปธน.ยูเครน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่มีสถานการณ์ใด ๆ ที่จะสามารถรับรองได้ว่าการที่รัสเซียโจมตียูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และว่าการที่ Amnesty International ไม่ออกมาประณามรัสเซียจากการโจมตีเมืองซาปอริซห์เซีย แสดงให้เห็นว่าองค์กรนี้ถูกแทรกแซงจากภายใน ข้อกล่าวหาของผู้นำยูเครนทำให้ผู้แทนของยูเครนประจำองค์การ Amnesty International ประกาศลาออกเพื่อประท้วงรายงานขององค์กรนี้แล้วเช่นกัน