ชำแหละร่างกม.หนุนการผลิตชิปของสหรัฐ เล็งเป้าชนจีนเต็มพิกัด

01 ส.ค. 2565 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 19:17 น.
738

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนการผลิตชิปในประเทศวงเงิน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์  เตรียมเดินหน้าแข่งขันกับจีนเต็มรูปแบบ

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ลงมติด้วยคะแนนเสียง 243 ต่อ 187 เสียง ผ่าน ร่างกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ผ่านมติเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค.2565 โดยมีเป้าหมายที่ช่วยให้บริษัทสหรัฐมีศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทของจีนและประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต

 

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ค. โดยจะมุ่งเน้นการสนับสนุนด้วยเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สำหรับกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐครั้งนี้ นอกจากเพื่อการแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการรับมือกับการรุกตลาดของชิปจากประเทศจีนอีกด้วย

ปธน.โจ ไบเดน พร้อมลงนามบังคับใช้ Chips and Science Act เป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว คาดว่าปธน.ไบเดนจะลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงสัปดาห์นี้ รู้จักในชื่อร่างกฎหมาย Chips and Science Act เป็นการสนับสนุนเงินจำนวนกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,890,000 ล้านบาท ในการผลิตชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ และให้เครดิตภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในการผลิตชิปอีกหลายพันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อใช้เป็นทุนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งติดโควิดรอบสองและกำลังอยู่ในระหว่างการกักตัว ระบุว่า วิกฤตขาดแคลนชิปนั้นเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น อีกทั้งการขาดแคลนชิปสำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ยังส่งผลกระทบให้รถมือสองมีราคาสูงขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น การผลิตชิปได้ด้วยตนเองภายในสหรัฐอเมริกาจึงถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบหนึ่ง

 

ก่อนหน้านี้ โฆษกทำเนียบขาวออกมายืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ และขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้บริษัทเซมิคอนดัคเตอร์สหรัฐ เข้าไปขยายการลงทุนในจีนถ้าหากบริษัทเหล่านั้นได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่เพื่อสร้างโรงงานในสหรัฐภายใต้กฎหมายดังกล่าว

 

นางแครีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เงื่อนไขหนึ่งของกฎหมายส่งเสริมการผลิตชิปในสหรัฐ คือห้ามบริษัทที่รับการช่วยเหลือจากมาตรการวงเงิน 52,000 ล้านดอลลาร์ เข้าลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนในจีน เพราะมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ ไม่ใช่ในจีน

เป้าหมายของร่างกฎหมายก็เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การจำกัดการลงทุนในจีนเป็นเป้าหมายของการล็อบบี้อย่างหนักจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้  

 

เปรียบเทียบ Chip Act ของอียู

ด้าน สหภาพยุโรป (EU) ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี ได้ออกมาประกาศแผนลงทุนมูลค่า 48,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคยุโรป หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนชิปในตลาดเช่นกัน รวมถึงลดการพึ่งพาชิปคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจากเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EC) ได้เสนอ ร่างกฎหมาย Chips Act เพื่อเพิ่มอิสระทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ในช่วงเดียวกับที่หลายประเทศในยุโรปกำลังประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานเนื่องจากความตึงเครียดกับรัสเซีย  ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่ของ EU จะต้องผ่านการรับรองจากสภาสหภาพยุโรป และรัฐสภาของสมาชิกแต่ละประเทศเสียก่อน

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เวลานี้ชิปคอมพิวเตอร์คือหัวใจของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของโลก และยังเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เน้นย้ำให้ EU ตระหนักถึงความเปราะบางในห่วงโซ่การผลิตชิปคอมพิวเตอร์ทั่วโลก

 

ภายใต้ ร่างกฎหมาย Chips Act จะมีการลงทุน 43,000 ล้านดอลลาร์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการวิจัย ออกแบบ และทดสอบชิปคอมพิวเตอร์ เป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของยุโรปในตลาดชิปโลกจากระดับเกือบๆ 9% ในปัจจุบันเป็น 20% ภายในปีค.ศ. 2030 หรือพ.ศ.2573 

 

ชิปคอมพิวเตอร์คือชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในสินค้าเทคโนโลยีเกือบทุกประเภท ตั้งแต่ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงรถยนต์ โดย เอเชียคือแหล่งผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก

 

ความเคลื่อนไหวของ EU ในครั้งนี้ นับว่าสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐที่ต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบการภายในประเทศเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ การลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตชิปในยุโรปจะส่งผลดีต่อประเทศสมาชิก EU ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส หรืออิตาลี โดยนักวิเคราะห์มองว่า การยกระดับการลงทุนทำให้ประเทศที่มีระบบการเงินที่แข็งแกร่ง และมีทรัพยากรสาธารณะที่มากกว่า สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้มากกว่า คล้ายๆ กับกรณีของสหรัฐ ที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางมลรัฐมีการออกนโยบายจูงใจเอกชนให้เข้ามาตั้งโรงงานภายในรัฐ

 

ข่าวระบุว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตชิปในยุโรปขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง กำลังการผลิตชิปในยุโรปลดลงจาก 24% ในช่วงปี 2543 มาอยู่ที่ราวๆ 8% ในปัจจุบัน (2565) ซึ่งบริษัท ASML เอกชนผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของยุโรป ออกมาสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนว่า หากภาครัฐไม่มีการดำเนินการใดๆ กำลังการผลิตชิปของยุโรปก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 4% ในเร็ววัน