อุตฯยานยนต์รับต้นทุนพุ่ง ชิปขาดแคลน รถยนต์ปรับขึ้นราคา

18 เม.ย. 2565 | 07:59 น.
1.1 k

อุตฯยานยนต์ไทย ปรับตัวรับปัญหาซัพพลายเชนจ์ป่วนทั่วโลก แถมต้นทุนการผลิตพุ่ง ชิ้นส่วนเพื่อการผลิตขาดแคลน หลาย "ค่ายรถยนต์ปรับขึ้นราคา" รถใหม่ และบางค่ายต้องตัดออพชัน

วิกฤติซ้อนวิกฤติ ตั้งแต่โควิด-19 มาจนถึงภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาเศรษฐกิจ ไปจนถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยิ่งส่งผลให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมทั่วโลกปั่นป่วน ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างปรับตัวเพื่อประคองยอดขาย และรักษาศักยภาพการผลิต คาดยอดขายในไทยปี 2565 ยังมีโอกาสแตะระดับ 8 แสนคัน

 

ตลาดรถยนต์ 2 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.65) ขาย ได้ 143,944 คัน เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และผ่านงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2022 โกยยอดจองได้ 31,896 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นยอดขายสะสมในไตรมาสที่ 2

อุตฯยานยนต์รับต้นทุนพุ่ง ชิปขาดแคลน รถยนต์ปรับขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยืนยันตรงกันว่า ตั้งแต่ปี 2564 ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ชิ้นส่วนขาดแคลนทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์สูงขึ้น หลายค่ายพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และไม่ปรับขึ้นราคา แต่ถ้าสถานการณ์ในปี 2565 ยังไม่ดีขึ้น  อาจจะยื้อไม่ไหว จนต้องตัดสินใจ ปรับขึ้นราคารถยนต์ใหม่

 

ล่าสุดบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับขึ้นราคาขายรถยนต์ทุกรุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เช่น SUZUKI CIAZ GL CVT ราคาใหม่ 564,000 บาท ขยับขึ้น 5,000 บาท SUZUKI CIAZ RS CVT ราคา ใหม่ 678,000 บาท ปรับขึ้น 3,000 บาท

 

ด้าน SUZUKI SWIFT GL CVT ราคาใหม่ 562,000 บาทขึ้น 5,000 บาท SUZUKI CARRY MT ราคาใหม่ 395,000 บาท ขึ้น 10,000 บาท SUZUKI ERTIGA GX AT ราคาใหม่ 745,000 บาท ขยับขึ้น 20,000 บาท และ SUZUKI XL7 AT ราคาใหม่ 799,000 บาท ปรับขึ้น 20,000 บาท

แหล่งข่าวจาก บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เหตุผลที่ต้องปรับขึ้นราคารถ Suzuki ทุกรุ่นมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าขนส่ง

 

“เราประกาศราคาใหม่เพื่อความโปร่งใส เพื่อให้ดีลเลอร์และลูกค้ารับทราบโดยทั่วกัน หลังจากต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งเรายืนยันราคาขายเดิม หรือพยายามยื้อเอาไว้ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว โดยราคามาตรฐานใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้” แหล่งข่าวกล่าว

อุตฯยานยนต์รับต้นทุนพุ่ง ชิปขาดแคลน รถยนต์ปรับขึ้นราคา

ในส่วนปัญหาชิปขาดแคลนยังเป็นอุปสรรคของการผลิตรถยนต์ในหลายโรงงาน ซึ่งในกลุ่มรถยนต์ หรูที่ใส่เทคโนโลยียานยนต์มารอบคัน ได้รับผลกระทบเต็มๆ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ กับชุดไฟหน้า Multibeam LED, Wireless Charger และฟังก์ชัน Hands Free access

 

บีเอ็มดับเบิลยู ต้องตัดฟังก์ชันบางอย่างในกลุ่มรถปลั๊ก-อินไฮบริด ที่ประกอบในเมืองไทย เช่น กล้อง 360 องศา, Wireless Charger, Comfort Access เป็นต้น ส่วน Volvo C40 Recharge Pure Electric EV นำเข้าจากจีน ตัดออพชันไฟหน้า Pixel LED ออก ไป และลดราคาลง 60,000 บาท เป็น 2.69 ล้านบาท

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาห- กรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัจจัยสำคัญจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการ ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบทำ ให้ผลิตและส่งออกได้ลดลง เฉพาะอย่างยิ่งตลาดเอเชียที่เป็นสัดส่วนการส่งออกเกือบ 50% ของภาพรวมการส่งออกลดลงอย่างมาก

สงครามรัสเซีย ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย แต่หากยืดเยื้อบานปลายจะส่งผลกระทบทางอ้อม ยิ่งทำให้การขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพราะรัสเซียห้ามส่งออกแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนของหลายอุตสาหกรรมรวมถึงเพื่อใช้ในการผลิต ไมโครชิป เช่น นิกเกิล พาลาเดียม แร่เหล็ก

อุตฯยานยนต์รับต้นทุนพุ่ง ชิปขาดแคลน รถยนต์ปรับขึ้นราคา

“ปีนี้ทางกลุ่มยังคงเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไว้ที่ 1 ล้านคัน แม้ช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 65) การส่งออกได้ 149,284 คัน ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2564” นายสุรพงษ์กล่าว