อัพเดตสถานการณ์ “ฝีดาษลิง” รอบโลก หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข

29 ก.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2565 | 08:03 น.
4.3 k

หลัง WHO ประกาศ (23 ก.ค.) ให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยยืนยันแล้วมากกว่า 16,000 คนใน 75 ประเทศเป็นอย่างน้อย ข่าวคราวเกี่ยวกับโรคนี้ก็ตกอยู่ในสปอตไลท์และดูจะใกล้ตัวเข้ามามากยิ่งขึ้น

เริ่มจากประเทศไทยล่าสุดวันที่ 28 ก.ค. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการตรวจพบ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (ฝีดาษวานร) รายที่ 2 ของประเทศไทยในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ มีอาการไม่รุนแรงและอยู่ในการดูแลของแพทย์ในห้องแยกเพื่อป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ามีครอบครัวอยู่รวมกันถึง 10 คน

 

ญี่ปุ่นก็พบผู้ป่วยรายที่ 2 ในโตเกียว มีประวัติกลับจากตปท.

สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานวันเดียวกัน (28 ก.ค.) ว่า พบ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายที่ 2 ของประเทศ เป็นชายวัย 30 ปีเศษ มีประวัติการเดินทางไปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง

 

ชายคนนี้มีผลตรวจเป็นบวกเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ขณะนี้กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีอาการทรงตัว และไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงญี่ปุ่นที่พบเป็นรายแรกเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ค.) ซึ่งเป็นชายวัย 30 ปีเศษเช่นเดียวกัน แพทย์ระบุผู้ป่วยรายที่ 2 มีไข้ ปวดเมื่อย และอ่อนเพลีย คล้ายกับผู้ป่วยรายแรกซึ่งมีประวัติเดินทางไปยุโรป และขณะนี้อาการทรงตัว

อัพเดตสถานการณ์ฝีดาษลิงรอบโลก

ออสเตรเลียประกาศฝีดาษลิงเป็น “อุบัติการณ์โรคติดต่อ” สำคัญระดับชาติ

และในวันเดียวกัน (28 ก.ค.) รัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่า โรคฝีดาษลิง เป็นอุบัติการณ์โรคติดต่อที่ความสำคัญระดับชาติ สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ WHO ที่ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ก.ค.2565

การประกาศของออสเตรเลียบ่งชี้ว่า รัฐบาลกลางจะต้องดำเนินนโยบายระดับชาติ เพื่อลงมือดำเนินการและสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับป้องกันการแพร่ระบาดของ ไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วถึง 44 รายในออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และมีอายุระหว่าง 21-40 ปี

 

อย่างไรก็ตาม นายพอล เคลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (CMO) ของออสเตรเลียระบุว่า โรคฝีดาษลิงเป็นอันตรายน้อยกว่าโรคโควิด-19 และไม่ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการระบาดในปัจจุบันในประเทศต่าง ๆ ที่โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น

 

ผอ.อนามัยโลกห่วงการแพร่ระบาดในกลุ่มชายรักชาย

ซีเอ็นเอ็นรายงานวานนี้ (28 ก.ค.) ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุถึงการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้นว่า ผู้ติดเชื้อใหญ่อยู่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แนะนำให้กลุ่มชายรักชายลดจำนวนคู่นอนรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหน้าใหม่ เพื่อจำกัดการสัมผัสเชื้อ

นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO

“นี่คือการระบาดที่สามารถยุติได้ หากประเทศ ชุมชน และบุคคล แจ้งข้อมูลกันเอง รับมือความเสี่ยงอย่างจริงจัง และดำเนินการตามขั้นตอนจำเป็น เพื่อหยุดการแพร่เชื้อและปกป้องกลุ่มเสี่ยง วิธีการดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อ ซึ่งหมายถึงการเลือกสิ่งที่ปลอดภัยต่อตัวเองและผู้อื่น”

 

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการ WHO ได้เตือนให้ประเทศต่างๆ ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย โดยขอให้หลีกเลี่ยงการตีตราและการเลือกปฏิบัติ (ต่อกลุ่มผู้ป่วย หรือกลุ่มชายรักชาย) ซึ่งอาจอันตรายได้พอ ๆ กับไวรัสเช่นกัน

 

เวลาเหลือน้อย นานาประเทศต้องเร่งหยุดยั้งฝีดาษลิง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) อ้างอิงคณะนักวิทยาศาสตร์ที่คอยให้คำปรึกษาองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เตือนว่า เวลานับถอยหลังของโอกาสการหยุดยั้งไม่ให้โรคฝีดาษลิงลุกลามกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกกำลังหมดไป หลัง WHO ประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จุดสูงสุดของการระบาดอาจใช้เวลาอีก 4-6 เดือนกว่าจะมาถึง หรือจนกว่ากลุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนป้องกันครบทุกคน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้นน่าจะมีกว่า 125,000 คน

 

WHO ภาคพื้นยุโรปเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อใหม่ในภูมิภาคยุโรปนั้น เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าทุก ๆ 2 สัปดาห์ เชื่อว่าอาจมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นกว่า 27,000 คน จาก 88 ประเทศ ภายในวันที่ 2 ส.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจากปัจจุบัน ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ราว 17,800 คน ใน 70 ประเทศ และส่วนใหญ่ระบาดในกลุ่มชายรักชาย

 

ถึงแม้ว่าผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงยังอยู่ในระดับต่ำมาก แต่การระบาดของเชื้อไวรัสนี้ไปสู่ประชากรกลุ่มใหม่นอกทวีปแอฟริกาที่มีโรคดังกล่าวเป็นโรคประจำถิ่น ถือเป็นเรื่องร้ายแรงทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากจะเกิดบ่อโรคใหม่และความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะระบาดได้รวดเร็วขึ้นหรืออาจมีอันตรายมากขึ้นนั่นเอง

อัพเดตสถานการณ์ “ฝีดาษลิง” รอบโลก หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข

ชัด ๆ จาก CDC โรคนี้ติดกันได้อย่างไร

ดร.เดเมเตร ดัสกาลากิส เจ้าหน้าที่ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) ที่ทำงานด้านการรับมือโรคฝีดาษลิง ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ฝีดาษลิงไม่ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ ให้ข้อมูลว่า พวกเขามีกิจกรรมทางเพศระดับหนึ่ง รวมถึงการสอดใส่และการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

 

ไวรัสแพร่กระจายโดยหลักผ่านการสัมผัสทางร่างกาย แต่สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เช่น ผ้าปูที่นอนหรือผ้าขนหนู ที่อาจเคยมีผู้เป็นโรคฝีดาษลิงใช้มาก่อน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้ากันอย่างใกล้ชิด เช่น การจูบ

 

ผู้เชี่ยวชาญของ CDC ระบุว่า นักวิจัยกำลังตรวจสอบว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ได้จากผู้ไม่มีอาการ หรือผ่านน้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด และอุจจาระหรือไม่ และว่า การสวมถุงยางอนามัยอาจช่วยได้หรือไม่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ CDC ระบุว่า ลำพังถุงยางอนามัยอย่างเดียวอาจไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ นอกจากนี้ การทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคฝีดาษลิงได้

 

ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี  ผู้อำนวยการ CDC กล่าวไว้เมื่อกลางเดือนก.ค.นี้ว่า ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสทางผิวหนัง รวมถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นเหมือนโรคฝีดาษลิง ลดกิจกรรมอันตรายอื่นๆ รวมถึงการลดกิจกรรมทางเพศกับคู่นอนหลายคนหรือไม่ทราบตัวตน

 

“หมอยง” ชี้ฝีดาษลิงยากต่อการควบคุม

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ป่วยฝีดาษลิงส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เริ่มต้นแบบ HIV คือไม่แสดงอาการโรค แต่แพร่เร็ว พบผู้ป่วยแล้ว 1.7 หมื่นคนใน 75 ประเทศ

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan วานนี้ (28 ก.ค.) ระบุว่า นับตั้งแต่การระบาดของโรคนอกทวีปแอฟริกา มีการกระจายเพิ่มขึ้นและมียอดผู้ป่วยสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมากกว่า 17,000 ราย ในมากกว่า 75 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การรายงานยอดผู้ป่วยเข้าสู่องค์การอนามัยโลก จะไม่ยอมบอกเพศ ที่บอกเพศมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และเป็นในเพศชายถึง 98 % กว่าๆ  เป็นเพศหญิงแค่ 1% ไม่มีผู้เสียชีวิตนอกแอฟริกา ที่เสียชีวิตจะอยู่ในทวีปแอฟริกาเพียง 5 ราย

 

การติดต่อนอกทวีปแอฟริกา เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศเดียวกัน และเกือบ 40% มีรอยโรคเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ

 

ศ.นพ.ยง ระบุว่า โรคนี้ยากต่อการควบคุม เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ HIV ในระยะแรกเมื่อ 40 ปีก่อน การเริ่มต้นก็แบบเดียวกัน HIV ไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรก กว่าจะแสดงอาการก็มีการแพร่กระจาย ติดต่อไปมากพอสมควร

 

“ฝีดาษวานรก็เช่นเดียวกัน อาการส่วนใหญ่ไม่มาก เมื่อมีอาการไม่มาก จึงยากในการควบคุม โดยเฉพาะบางรายอาจจะไม่มีอาการ หรือตุ่มขึ้นเพียงเม็ด 2 เม็ดก็ได้ แต่ข้อดีของฝีดาษวานรมากกว่า HIV คือ ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่เรื้อรัง เป็นอยู่ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ก็หายขาดเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของโรค” หมอยงกล่าวและว่า

 

ในอนาคตถ้าควบคุมไม่ได้ การกระจายโรค จะไม่อยู่ในเฉพาะเพศชายเท่านั้น จะกระจายเข้าสู่คนใกล้ชิด และเข้าสู่ระบบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ควบคุมได้ยาก

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ แต่เดิมเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์จำพวกพันธุ์แทะ เช่นหนู (giant gambian rat) ในแอฟริกา แต่ขณะนี้เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คน และต่อไปถ้าคนเอาเชื้อนี้ข้ามไปยังสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ท้องถิ่น เช่นหนู แล้ว สัตว์จะเป็นพาหะ อยู่ในสัตว์ ก็จะยิ่งยากในการควบคุม และการติดต่อจากสัตว์จะข้ามมาสู่คนได้อีก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะที่อยู่ในเมือง ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่น ที่ยากต่อการกำจัดหรือควบคุม