ตะลึง! กทม. มีงบรับมือ "โรคฝีดาษลิง" แค่ 2.2 ล้านบาท 

25 ก.ค. 2565 | 17:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2565 | 00:38 น.
1.4 k

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ เผย กทม. มีงบรับมือ "โรคฝีดาษลิง" แค่ 2.2 ล้านบาท พรรคก้าวไกล เร่งหางบช่วยผู้ว่าฯ ชัชชาติ

จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความกังวลเรื่อง "WHO ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉิน กทม. มีงบรับมือแค่ 2.2 ล้านบาท ก้าวไกลเร่งหางบช่วยผู้ว่าฯ กทม." ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้ประกาศให้ โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการควบคุมการระบาด

 

โดยปัจจุบันจากรายงานใน 75 ปรเทศ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 16,000 คน เสียชีวิต 5 คน โดยในขณะนี้มีเพียงยุโรปที่ WHO ประเมินความเสี่ยงของโรคฝีดาษลิงอยู่ในระดับสูง ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกยังอยู่ในระดับปานกลาง

เบื้องต้นเข้าใจว่า โรคฝีดาษลิงนั้นไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงมากนัก โดยจะมีอาการไข้สูง มีตุ่มน้ำ และผื่นขึ้นตามร่างกาย แต่ทุกรายไม่ได้จำเป็นต้องมีผื่นขึ้นหนาแน่นทั่วร่ายกายตามภาพที่ปรากฎตามสื่อ (ที่อาจะทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวจนเกินไป) เว้นแต่ว่าจะเป็นกรณีของผู้ป่วยหนักเท่านั้น

 

แต่ที่น่ากังวล ก็คือ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะเป็นนานถึง 2-4 สัปดาห์ และหากการระบาดกระจายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นวงกว้าง โดยไม่มีการควบคุมโรคที่ดี สังคมก็จะเกิดความหวาดกลัวต่อโรค และจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ โดยจะกดดันให้เศรษฐกิจหลังโควิดที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ พลันกลับทรุดตัวลงไปอีก นี่ล่ะครับปัญหาใหญ่

 

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ได้ระบุว่า โรคฝีดาษลิงนั้น ติดต่อจากคนสู่คนด้วยพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

1. การสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำ สะเก็ด หรือของเหลวในร่างกาย

2. สารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจจากการสัมผัสตัวเป็นเวลานาน หรือใกล้ชิด เช่น การจูบ การกอด หรือการมีเพศสัมพันธ์

3. การสัมผัสของใช้ เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ที่สัมผัสผื่นติดเชื้อ หรือของเหลวในร่างกาย

4. ผู้ตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรกได้

เข้าใจว่า ในวันที่ 24 ก.ค. กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุมเพื่อยกระดับการเฝ้าระวัง ซึ่งผมขออนุญาตเสนอแนะว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน นั้นประกอบไปด้วย

1. การกำหนดมาตรการในการทำงานร่วมกันระหว่างด่านควบคุมโรค และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีการ Update สถานการณ์ และทบทวนมาตรการให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

2. เร่งประชาสัมพันธ์โรคฝีดาษลิง ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งการสังเกตอาการ ความร้ายแรงของโรค การติดต่อของโรค และช่องทางในการเข้ารับการรักษา ประชาชนที่ป่วยต้องทราบทันทีว่า จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จะติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาที่ไหน อย่างไร

 

3. ระบบสายด่วน (Call Center) ระบบการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการรักษา และการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนระบบในการกักกัน และควบคุมโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ชิด

 

ผมเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเอากรณีของโควิดมาเป็นบทเรียน และไม่ปล่อยปละจนโรคฝีดาษลิง ลุกลามบานปลาย และสร้างปัญหาใหญ่ที่กระทบกับเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนซ้ำอีก

 

สำหรับกรุงเทพมหานคร ก็มีเรื่องที่กังวลอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่ กทม. เผชิญหน้ากับโควิดมากว่า 2 ปี แล้ว แต่พอผมได้พิจารณางบประมาณในปี 66 หากไม่เอางบที่เป็นค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าครุภัณฑ์ และงบที่มีความเฉพาะเจาะจง (เช่น ไข้หวัดใหญ่ เอดส์ วัณโรค พิษสุนัขบ้า โรคติดต่อในสัตว์ ฯลฯ) มารวม ก็จะพบว่า กทม. มีการจัดสรรงบประมาณไว้รับมือกับโรคติดต่อ และโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นไว้เพียง 2,185,800 บาท เท่านั้น

 

สำหรับงบกลาง ที่กันเอาไว้เป็นเงินสำรองในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ก็มีอยู่เพียง 500 ล้านบาท ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม และยังต้องใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินอีกหลายเหตุปัจจัย

 

งบปี 66 ที่เห็น เป็นการจัดงบประมาณ ราวกับว่า กทม. ไม่เคยเจอกับโควิดมาก่อน ไม่ได้เอาการระบาดของโควิดมาเป็นบทเรียนในการเตรียมงบไว้รับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอื่นๆ เลย

 

เมื่อทราบถึงปัญหานี้ผมจึงได้เร่งประชุมกับ ส.ก.ก้าวไกล โดย ส.ก.ก้าวไกล ทุกคนจะเร่งพิจารณาปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ตลอดจนตัดงบเพื่อยุติโครงการซ้ำซ้อนที่จงใจป้อนงานให้กับผู้รับเหมารายเดิม ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเพื่อให้ผู้ว่ามีงบประมาณ หรือมีงบกลางเพิ่มเติมไว้ใช้รับมือกับโรคฝีดาษลิงเพื่อให้เศรษฐกิจของ กทม. จะได้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนชาว กทม. ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจครับ