สธ. สั่งยกระดับ “ฝีดาษลิง” สู่ภาวะเฝ้าระวัง-คุมเข้มเข้าประเทศ

24 ก.ค. 2565 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2565 | 20:02 น.
1.3 k

“อนุทิน” ถกด่วนสั่งยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” โยกอำนาจ EOC ให้ปลัด สธ. คุมทั้งประเทศ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ใช้ชีวิตปกติ มาตรการป้องกันโควิดยังใช้ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อ ลุ้นต่อพรุ่งนี้นัดประชุมก่อนประกาศระดับการเฝ้าระวังต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขด่วน วันนี้ เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรค "ฝีดาษลิง" หลังองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา 

 

อีกทั้งก่อนหน้าการประกาศของ WHO ประเทศไทยก็พบผู้ป่วยยืนยันเป็นรายแรกเป็นชาวไนจีเรีย ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และอยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย โดยที่ประชุม มีความเห็นว่า จะยกระดับการเฝ้าระวังของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรมควบคุมโรค มาเป็น EOC ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การสั่งการ และการเฝ้าระวังสถานการณ์มีความครอบคลุมไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังขอให้ประชนไม่ต้องตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความสามารถในการแพร่เชื้อและการติดเชื้อไม่เหมือนโควิด-19 ดังนั้นมาตรการเดิมในการป้องกันโควิด ยังสามารถใช้ได้ ทั้งใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเว้นระยะห่าง 

การประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษลิง

 

“ตอนนี้ความพร้อมก็มีอยู่ ขออย่าให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป ให้ใช้ชีวิตตามปกติ สามารถใช้มาตรการเดิมในการป้องกันโควิด และฉีดวัคซีนได้ โดยยังไม่ต้องถึงกับต้องการจำกัดการเดินทาง ยังห่างจากการทำอย่างนั้นอีกมาก”

 

ส่วนการจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคระบาดอันตรายร้ายแรงหรือไม่ หรือการจะประกาศให้เป็นโรคติดต่อระดับใดนั้น ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) กรมควบคุมโรคจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ เพื่อพิจารณา และประกาศระดับการเฝ้าระวังต่อไป ซึ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนของระบบสาธารณสุขประเทศไทย  

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีการติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรีย ที่หลบหนีออกไปจากไทยและถูกควบคุมตัวไว้ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งระหว่างที่ผู้ติดเชื้อรายนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ก็ได้ติดตามและตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีผู้ใดที่ติดเชื้อ และอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย 

 

แต่ก็ได้มอบหมายให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับบุคคลที่เดินมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นฐานจากการเฝ้าระวังการป้องกันโรคโควิด-19 มาแล้ว เชื่อว่า จะสามารถรับมือได้

การประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษลิง

 

ขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านวัคซีนนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า วัคซีนโรคฝีดาษที่เคยเก็บเอาไว้นั้นแม้จะเก็บไว้นานแต่ก็เก็บรักษาไว้อย่างดีตามมาตรฐาน ถ้าเกิดจำเป็นต้องนำมาใช้ก็สามารถนำมาใช้ได้ในทันที ส่วนการรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ รายงานว่า โรคดังกล่าวโดยทั่วไปมีทั้งยาจะให้รักษาพยาบาลตามอาการและเฉพาะโรค ถ้ามีความจำเป็นสถานพยาบาลก็มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วย

 

นายอนุทิน กล่าวว่า แม้ในทางการแพทย์ขณะนี้จะได้ระบุถึงลักษณะของโรคไม่มีความรุนแรง แต่สภาพที่ปรากฏต่อคนทั่วไปมันดูแล้วน่าตระหนกโดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการมีมีตุ่มน้ำ หนอง ผื่นตามลำตัวดูแล้วไม่ใช่โรคผิวหนังธรรมดา และหากมีการสัมผัสก็แพร่เชื้อได้ 

 

ดังนั้นจึงควรจะต้องยกระดับการเฝ้าระวัง มีระบบในการดูแลกรณีที่ผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล ให้พิจารณาว่ากรณีมีผู้ป่วยเข้าข่ายจะมีขอควบคุมรักษาก่อนได้หรือไม่ รวมถึงดูแลเรื่องความพร้อมของเวชภัณฑ์ วัคซีน มีมาตรการในสาธารณสุขในการป้องกันแพร่เชื้อคัดกรองอให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขให้ได้ต่อเนื่อง